Sunday, April 28, 2013

เครื่องกรองน้ำสะอาดแบบชาวบ้าน โดย ศ.นพ. ร่มไทร สุวรรณิก

เครื่องกรองน้ำสะอาดแบบชาวบ้าน
 
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลศิริราช โดย ศ.นพ. ร่มไทร สุวรรณิก ได้คิดค้นเครื่องกรองน้ำเสียให้เป็นน้ำบริสุทธิ์แบบประหยัด ด้วยวิธีการ ง่าย ๆ และลงทุนในราคา 300-400 บาท

1. อุปกรณ์


ก. โอ่งหรือถัง สูงประมาณ 18 นิ้ว (อาจจะมากกว่าก็ได้) จำนวน 3 ใบ
ข. สายยางใส เส้นผ่าศูนย์กลาง 0.5 ซม. ยาว 2 เมตร
ค. ขั้วต่อสายยาง คอยปรับระดับน้ำให้ไหลมากหรือน้อย 2 อัน สายยางและต้นขั้วต่อสายยางนั้นอาจใช้ชุดของ สายน้ำเกลือนำมาใช้ได้เลย ซึ่งสามารถขอได้ตาม โรงพยาบาลต่าง ๆ ซึ่งมีที่ปรับเร่งให้ไหลเร็วหรือช้า ก็ได้

2. วิธีเจาะ


ก. เจาะตุ่มด้วยฆ้อนกับตะปู กว้างพอกับสายยาง
ข. โอ่งหรือถังใบที 1 เจาะ 1 รู สูงจากก้นโอ่ง 2 นิ้ว
ค. โอ่งหรือถังใบที่ 2 และ 3 เจาะ 2 รู รูล่างให้เสมอกับ โอ่ง รูบนวัดจากปากโอ่งลงมา 2-3 นิ้ว 

  
รูปที่ 1 แสดงการเจาะตุ่มหรือโอ่ง ต่อสายยาง และการบรรจุกรวดและทราย

3. ต่อสายยาง


ก. ต่อสายยางจากรูที่ก้นโอ่งใบที่ 1 กับสายยางที่รูก้นโอ่ง ใบที่ 2 โดยใช้ขั้วต่อ
ข. ต่อสายยางจากรูที่ปากโอ่งใบที่ 2 กับสายยางที่รูก้น โอ่งใบที่ 3 โดยใช้ขั้วต่อเช่นเดียวกัน
ค. เสียบสายยางที่รูปากโอ่งใบที่ 3 และปล่อยสายยาง ทิ้งไว้

4. วิธีบรรจุกรวดและทราย


ก. กรวดและทรายละเอียดที่ใช้ต้องล้างให้สะอาด
ข. วิธีบรรจุกรวดและทรายละเอียดในโอ่งใบที่ 2 และ 3 เหมือนกัน
ค. ใส่กรวดลงก่อนให้สูงพอมิดสายยาง เพื่อกันไม่ให้ ทรายเข้าไปอุดรูสายยาง
ง. แล้วใส่ทรายละเอียดลงไปให้ความสูงของทรายอยู่ใต้ รูบนประมาณ 1 นิ้ว
5. การยกระดับ ช่วยให้การไหลของน้ำดีขึ้น และป้องกันการไหล ย้อนกลับ


ก. โอ่งใบที่ 1 สูงจากระดับพื้น 20 นิ้ว
ข. โอ่งใบที่ 2 สูงจากระดับพื้น 10 นิ้ว
ค. โอ่งใบที่ 3 สูงจากระดับพื้น 3 นิ้ว 

  
รูปที่ 2 ขั้นตอนของการกรองน้ำให้สะอาด

6. วิธีกรอง


ก. เทน้ำลงในโอ่งใบที่ 1 ใส่คลอรีนประมาณ 1 ช้อนชาและแกว่งสารส้ม (น้ำที่เทลงในโอ่งจะเป็นน้ำที่เสีย คือ สกปรกซึ่งอาจนำมาจากตามแม่น้ำลำคลอง)
ข. น้ำจะถูกกรองโดยโอ่งใบที่ 2 ผ่านกรวดและทรายเอ่อ ขึ้นสวนทางกับแรงดึงดูดของโลก และไหลออกทาง สายยางที่ปากโอ่งใบที่ 2 ไปยังก้นโอ่งใบที่ 3
ค. น้ำจะถูกกรองจากโอ่งใบที่ 3 เช่นเดียวกับโอ่งใบที่ 2
ง. น้ำที่ออกจากโอ่งใบที่ 3 เราดื่มได้เลย จำนวนน้ำที่ได้ ประมาณ 60-70 ลิตรต่อวัน

7. วิธีล้างโอ่งกรอง


ถอดสายยางตรงขั้วต่อออก ปล่อยน้ำจากก้นโอ่งกรองที่ 2 และ 3 ออกจนหมดน้ำขุ่นเท่านั้น
ด้วยวิธีการง่าย ๆ เช่นนี้ เราก็สามารถได้น้ำที่สะอาด น้ำที่ ผ่านขั้นตอนเหล่านี้มาแล้วสามารถนำไปดื่มได้ทันที
นอกจากจะช่วยให้ประโยชน์แก่ผู้ประสบอุทกภัยน้ำท่วม แล้วเครื่องกรองน้ำแบบง่าย ๆ นี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ดีสำหรับผู้ที่ บ้านอยู่ตามริมแม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่น่าใช้มากที่สุด คือผู้ที่อาศัยตามหมู่บ้านที่สูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ หรือถ้าอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม อย่างใกล้ชิด เช่น หมู่บ้านจัดสรร หรือหมู่บ้านที่มีโครงสร้างสนิทสนมกัน มากตามแบบไทย ๆ ก็อาจดัดแปลงร่วมใจกันสร้างเครื่องกรองน้ำสำหรับ ชุมชนขนาดย่อมได้ โดยช่วยกันสละเงินคนละเล็กคนละน้อย แล้วช่วยกันดู แลรักษา ตัวอย่างที่ทำกันมาแล้วเช่น เช่นที่อำเภอหัวไผ่ จังหวัดอ่างทอง และ ที่โรงเรียนสลัมคลองเตย ซึ่งปรากฏว่า มีน้ำสะอาดบริโภคกันอย่างทั่วถึง 

โครงการเกลือคุณภาพ น้ำปลาคุณภาพ น้ำดื่มสะอาด ศิริราช 21 
  
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย 
เทคโนธานี ถ.เลียบคลองห้า ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี 12120 ประเทศไทย
โทรศัพท์ 0-2577-9000
โทรสาร 0-2577-9009

สมดุลของอิเลคโทรไลต์ในร่างกาย by tuck-nu


สมดุลของอิเลคโทรไลต์ในร่างกาย
คัดลอกจาก http://tuck-nu-tuck-nu.blogspot.com/2009/09/blog-post_2948.html

อิเล็กโทรไลต์เป็นสารประกอบที่สามารถแตกตัวเป็นไอออนได้ ซึ่งในร่างกายสัตว์มีความสำคัญเกี่ยวกับการรักษาสมดุลของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย ถ้าหากว่าเกิดความผิดปกติใด ๆ จนถึงขั้นที่กลไกการควบคุมของเหลวและอิเลคโทรไลต์ไม่สามารถปรับสภาพเป็นปกติได้จะส่งผลให้เสียสมดุลของร่างกายและแสดงการเจ็บป่วย ซึ่งถ้าหากรุนแรงก็อาจจะทำให้สัตว์เสียชีวิตได้ 

อาการบ่งชี้ถึงความจำเป็นในการตรวจ
1.ภาวะที่เห็นได้ชัดว่ามีการสูญเสียอิเล็คโทรไลต์เช่น ท้องเสีย อาเจียน เสียเลือด ซึงจะเป็นการเสียไปพร้อมกับน้ำ
2.ในรายที่สงสัยว่าเป็นโรคที่ทำให้เกิดการเพิ่มหรือลดของอิเลคโทรไลต์ เช่น สงสัยช่องท้องอักเสบ ทางเดินอาหารบิดหมุน ท้องอืด ภาวะอ่อนแรง ล้มนอน เป็นต้น
การตรวจทางห้องปฏิบัติการ
การตรวจวิเคราะห์อิเลคโทรไลต์ประกอบด้วยการตรวจความเข้มข้นของอิเลคโทรไลต์ในซีรัมโดยการใช้เครื่องมือวิเคราะห์ใช้หลักการ ion selective electrode (ISE) ซึ่งหมายถึง การตรวจวิเคราะห์โดยวัดการเคลื่อนที่ของ electron ของไอออนเฉพาะในน้ำยาเคมีที่มีประจุ (electrolytic solution)ที่จำเพาะต่ออิเลคโทรไลต์ ซึ่งเครื่องมือที่มีใช้ในโรงพยาบาลสัตว์คือเครื่อง Ion-selective electrod (ISE) analyzer โดยใช้ตัวอย่างส่งตรวจคือ ใช้ซีรัม โดยอาจจะเก็บจากหลอดเลือดดำที่โคนหาง ที่คอหรือใบหูก็ได้จากนั้นใสในขวดเก็บเลือดที่ไม่มีสารป้องกันการแข็งตัวของเลือดเพื่อให้ซีรัมแยกออกจากเม็ดเลือดและส่งห้องปฏิบัติการต่อไป
การวัดปริมาณแก๊สในเลือด (Blood gas analysis) เป็นวิธีตรวจความเป็นกรด-ด่างในเลือดได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว โดยตัวอย่างส่งตรวจคือเลือดที่ผสมสารเฮพารินไม่ให้สัมผัสอากาศภายนอกและปิดให้สนิท ควรส่งตรวจให้เร็วที่สุดหรือแช่เย็นในน้ำแข็งไม่เกิน 4 ชั่วโมงเพื่อลดการเปลี่ยนแปลงแก๊สให้น้อยสุด ควรวัดอุณหภูมิประกอบการตรวจเพราะมีผลต่อค่า PO2 และ PCO2 ชนิดของหลอดเลือดมีผลต่อความเป็นกรด-ด่างเนื่องจากเลือดจากหลอดเลือดแดงจะมีค่าความเป็นกรด-ด่างสูงกว่าและ PCO2 ต่ำกว่าเลือดเลือดดำ แต่เลือดจากหลอดเลือดดำจะมีไบคาร์บอเนตสูงกว่าดังนั้นเลือดจากหลอดเลือดดำจะให้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือในการประเมินภาวะความเป็นกรด-ด่างจากกระบวนการเมทาบอลิซึมที่เป็นผลจากสาเหตุปฐมภูมิส่วนเลือดจากหลอดเลือดแดงเหมาะกับการประเมินความผิดปกติของการหายใจจากสาเหตุปฐมภูมิ


การประเมินและแปลผล

1.โซเดียม (Sodium) โซเดียม ส่วนใหญ่จะประกอบอยู่ในน้ำนอกเซลล์ ความเข้มข้นของโซเดียมจะคงที่อยู่ในช่วงที่แตกต่างกันน้อยมาก (132-152 mmole/l) โซเดียมมีประโยชน์ในการรักษาความดันออสโมติกของน้ำนอกเซลล์ไว้ ซึ่งมีผลต่อปริมาณของน้ำ และมีการเคลื่อนที่ย้ายน้ำในร่างกาย โซเดียมจำเป็นต่อการทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อให้เป็นปกติ และควบคุมความสมดุลของกรดด่างในร่างกาย
ภาวะขาดโซเดียม(Hyponatremia) มักเกิดจากการเสียโซเดียมไป (มีน้อยกว่า 132 mmole/l) โซเดียมในร่างกายจะเสียไป จากโรคในทางเดินอาหาร (อาเจียนหรือท้องเสีย) จากโรคไตบางชนิด ทำให้ท่อ ไต ดูดกลับโซเดียมได้น้อยลง หรือไม่ได้เลย การหลั่งฮอร์โมน ADH มากเกินไป หรือการให้สารน้ำที่เป็น hypotonic มากเกินไป (5% dextrose) เป็นต้น อาการของการขาดโซเดียม ในการสูญเสียโซเดียมมักจะเสียน้ำไปด้วยทำให้มีอาการขาดน้ำ (dehydration) เนื่องจากไตพยายามรักษาความดันออสโมติกของน้ำนอกเซลล์เอาไว้ โดยการขับน้ำออกมากขึ้น จะมีอาการซึม อ่อนเพลีย กล้ามเนื้อเกร็ง อาจจะมีกระตุก และชักได้ ท้องเดิน อาเจียน ถ้ายังคงขาดนาน ก็จะมีอาการรุนแรงจนเกิดหมดสติ และการไหลเวียนล้มเหลวได้
ภาวะโซเดียมเกิน(Hypernatremia) มักเกิดจากการกินเข้าไปมากหรือขับออกน้อยลง (มากกว่า 152 mmole/l) เช่นมีการหลั่งแอลโดสเทอโรน (aldosterone) มากเกินไป อาจเกิดจากการให้คอร์ทิโซน ซึ่งจะทำให้การดูดซึมกลับโซเดียมโดยท่อไตเพิ่มขึ้น ในโรคไตถ้ากินเข้าไปมากขับออกมาไม่ได้ ก็ทำให้โซเดียมคั่งได้เช่นเดียวกันอาการและอาการแสดงของการมีโซเดียมคั่ง คือ มีอาการสับสน บวม มีน้ำคั่งในช่วงว่างของเนื้อเยื่อ ปัสสาวะน้อยลง ปากแห้งและเหนียว ลิ้นจะขรุขระและแห้ง ถ้าไม่ให้การรักษาก็จะทำให้หมดสติได้

2.โพแทสเซียม (potassium) เหมือนกับอิเล็กโทรไลต์อื่นๆในร่างกาย โพแทสเซียมในร่างกายจะมีค่าคงที่ (3.5-5.1 mmole/l) แต่ถ้าค่ามีการเปลี่ยนแปลงมากจะทำให้มีผลต่อร่างกายได้ โพแทสเซียมมีมากในเซลล์มีความสำคัญในการทำหน้าที่ของกล้ามเนื้อลาย กล้ามเนื้อหัวใจ การส่งกระแสประสาท ไตจะมีหน้าที่ในการควบคุมความเข้มข้นของโพแทสเซียม โดยเฉพาะถ้ามีการคั่งในน้ำนอกเซลล์ โพแทสเซียมจะถูกขับออกมาทางอุจจาระ
ภาวะขาดโพแทสเซียม(Hypokelemia) โพแทสเซียมจะไม่มีเก็บสำรองไว้ในร่างกาย การขาดอาจเกิดจากการได้รับเข้าไปน้อย การดูดซึมของลำไส้น้อยลงหรือมีการสูญเสียไปมาก การผ่าตัดลำไส้ออกก็อาจทำให้ขาดการดูดซึมได้ ถ้าไตเสียก็จะทำให้มีการเสีย โพแทสเซียมเช่นเดียวกัน แอลโดสเทอโรน ทำให้มีการดูดซึมโซเดียมมากขึ้น และขับโพแทสเซียมออกไปแทน ถ้ามีการหลั่งฮอร์โมนนี้มาก จะทำให้ขาดโพแทสเซียมได้ การเสียไปกับสิ่งขับจากระบบทางเดินอาหาร เช่น การอาเจียน หรือท้องเสีย จะทำให้มีการขาดโพแทสเซียม กล้ามเนื้อจะมีความไวต่อการขาดโพแทสเซียมมาก ถ้าขาดจะทำให้ มี การทำหน้าที่ผิดปกติของกล้ามเนื้อโครงร่าง กล้ามเนื้อเรียบและกล้ามเนื้อหัวใจได้ การขาดจะมีผลต่อหัวใจจะทำให้ชีพจรเบาเร็ว ถ้าขาดรุนแรงหัวใจจะโต และล้มเหลวได้ กล้ามเนื้อลายมีการอ่อนแรงและลีบ จะมีอาการอ่อนเพลียจนอาจมีอาการอัมพาตของขาและกล้ามเนื้อหัวใจ หัวใจวายได้ กล้ามเนื้อเรียบผิดปกติทำให้มีการเคลื่อนไหวของลำไส้ และทางเดินอาหารน้อยลง มีอาการท้องอืด อาเจียน และไม่ถ่ายอุจจาระ เมื่อขาดโพแทสเซียมในน้ำนอกเซลล์ โพแทสเซียมในเซลล์ก็จะออกมาภายนอก ทำให้ขาดโพแทสเซียมในเซลล์ โซเดียมและไฮโดรเจนไอออนจะเข้าไปอยู่ในเซลล์แทนทำให้หน้าที่ของเซลล์เสียไป เกิดภาวะเป็นด่างในน้ำนอกเซลล์ เนื่องจากเสียโซเดียม และไฮโดเจนไอออนไป ภาวะโพแทสเซียมเกิน(Hyperkalemia) อาจเกิดจากการขับออกทางไตน้อย มีการสลายของเซลล์มาก (catabolism) หรือได้รับเข้าไปเป็นจำนวนมาก การมีปัสสาวะน้อยไม่ว่าจากสาเหตุใดก็ตามเช่นโรคไต ขาดน้ำ หรือช็อค ก็ทำให้มีการขับโพแทสเซียมออกมาน้อยลง นอกจากนั้นอาจเกิดจากการ ขาดฮอร์โมนอะดรีนัล คอร์เท็กซ์ เช่น คอร์ทิคอยด์ (corticoid) ทำให้ไตขับโพแทสเซียมน้อยลง แม้ว่าไตจะขับปัสสาวะออกได้ตามปกติก็ตามแต่มีการดูดซึมกลับของโพแทสเซียมในท่อไตมากขึ้น การทำลายของเนื้อเยื่อและเซลล์พบมากในพวกที่มีบาดเจ็บจะทำให้มีการปล่อยโพแทสเซียม ในเซลล์ ออกมาในน้ำนอกเซลล์ ทำให้มีจำนวนโพแทสเซียมสูง ขึ้น การคั่งของโพแทสเซียมจะทำให้มีอาการซึม กล้ามเนื้อลายเป็นอัมพาต ท้องเสีย ชีพจรเต้นเร็ว จนกระทั่งหัวใจวายตายได้

3.คลอไรด์ (Chloride)
เป็นไอออนลบซึ่งปกติโคมีความเข้มข้นของคลอไรด์ในพลาสมาประมาณ 94-111 mmole/l การเปลี่ยนแปลงระดับวามเข้มข้นของคลอไรด์ในซีรัม ทำให้สัดส่วนของระดับความเข้นข้นโซเดียมต่อความสมดุลของน้ำในร่างกายเปลี่ยนแปลงไป อีกทั้งความเข้มข้นของคลอไรด์จะแปรผกผันกันความเข้มข้นของไบคาร์บอนเนต ดังนั้น เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงในสัดส่วนความเข้มข้นของคลอไรด์ จะมีความสัมพันธ์กับความไม่สมดุลของกรด ด่างเกิดขึ้นด้วย หากมีสัดส่วนของคลอไรด์สูงขึ้นรวมกับการมี anion gap เป็นปกติไปจนถึงต่ำ จะเกิดภาวะ metabolic acidosis ที่มีคลอไรด์สูง (hyperchloridemia) สภาวะร่างกายจะตอบสนองด้วยการชดเชยที่เรียกว่า respiratory alkalosis ส่วนการไม่สมดุลของสัดส่วนคลอไรด์ที่ต่ำนั้นจะเกิด metabolic alkalosis โดยจะชดเชยด้วยการเพิ่มความเป็นกรดในระบบหายใจ (respiratory acidosis) โดยการที่มีคลอไรด์ต่ำและเกิด metabolic alkalosis มักจะพบความผิดปกติของระบบการย่อยอาหารในสัตว์ 4 กระเพาะได้ทั่วไปและมีสาเหตุจากการสูญเสียน้ำที่มีคลอไรด์เป็นองค์ประกอบจำนวนมากหรือมีการสะสมของคลอไรด์ในน้ำที่ abomasums และ forestomuchs

สมดุลกรด-ด่าง
เป็นสิ่งที่สำคัญต่อการดำรงชีวิต เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงจะมีอิทธิพลอย่างมากต่อการทำงานของเอนไซม์ต่าง ๆ ที่ทำหน้าที่ควบคุมกระบวนการเมตาบอลิซึมต่าง ๆ ของร่างกาย ค่าความเป็นกรด-ด่างของเลือดโคปกติอยู่ระหว่าง 7.31-7.53 ถ้าหากลดลงต่ำกว่า 6.8 หรือสูงเกิน 7.8 อาจเป็นอันตรายถึงเสียชีวิตได้
1. Metabolic acidosis เป็นภาวะที่มี pH ในเลือดต่ำกว่าปกติอาจเกิดจาก
a. การสูญเสียไบคาร์บอเนต สูญเสียไปกับการคัดหลั่งจากดูโอดีนัมและตับอ่อนปนออกมากับอุจจาระ ซึ่งเกิดในกรณีท้องร่วงดูดกลับไม่ทัน หรือการเสียไปกับน้ำลายในสัตว์ที่เป็นแผลในปาก
b. การสร้างและสะสมกรดแลกติกมากขึ้น เช่น เนื้อเยื่อที่เลือดไปเลี้ยงไม่เพียงพอ เกิดการสลายไกลโคเจนแบบไม่ใช้ออกซิเจนทำให้เกิดกรด
c. กินอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรทจะถูกหมักย่อยได้เป็นกรดเมื่อมีมากไปทำให้เกิดภาวะเป็นกรด
d. การขับไฮโดรเจนไอออนที่ไตลดลงร่วมกับการคั่งค้างของไบคาร์บอเนต เมื่อสัตว์เกิดสภาวะช็อคทำให้การไหลเวียนลดลงทำให้ขับไฮโดรเจนไอออนออกมาลดลง
2. Metabolic alkalosis เกิดจากการสูญเสียไฮโดรเจนไอออนในสิ่งคัดหลั่งจากกระเพาะโดยเฉพาะกรดไฮโดรคลอริก เช่น จากกระเพาะแท้พลิก เคลื่อนที่ผิดตำแหน่ง บิดตัว หรออัดแน่น ทำให้การดูดกลับถูกรบกวนเกิดการคั่งค้างในทางเดินอาหาร หรือเกิดจากได้รับอาหารที่มีด่างมากไป การที่มีด่างสะสมมากกว่าปกติร่างกายจะแก้ไขโดยการหายใจโดย hypoventilation ทำให้ค่า PCO2 เพิ่มขึ้น ถ้าร่างกายแก้ไขไม่ได้ต้องทำการรักษา
3. Respiratory acidosis เป็นภาวะเลือดมี pH ลดลงค่า PCO2 เพิ่มขึ้นเกิดจากการแลกเปลี่ยน O2 ลดลงทำให้ CO2 เข้าปอดได้ดีกว่าทำให้ PCO2 สูงขึ้น ทำให้ขัดขวางทางเดินหายใจตอนบน ร่างกายจะตอบสนองเอง ไม่ต้องให้ไบคาร์บอเนต
4. Respiratory alkalosis เกิดจากการหายใจลึกและถี่ผิดธรรมดาเรียกว่า hyperventilation ซึ่งอาจจะถูกกระตุ้นโดยภาวะ hypoxemia ทำให้ PCO2 ในเลือดลดลง และ pH สูงผิดปกติทำให้ซึม หัวใจเต้นเร็ว ไม่เป็นจังหวะ
5. Mixed acid-base imbalances เกิดจากร่างกายมีภาวะเสียสมดุลกรด-ด่างแบบปฐมภูมิหลายอย่างร่วมกัน ทั้งเกิดจากภาวะผิดปกติ metabolic acidosis และ metabolic alkalosis แบบใดแบบหนึ่งหรือทั้งสองแบบ ร่วมกับภาวะผิดปกติจากการหายใจทั้งที่มีกรดหรือด่างสะสมมากกว่าปกติ

การวัดความผิดปกติของสมดุลกรด-ด่างด้วยไบคาร์บอเนต
ปริมาณไบคาร์บอเนตหรือคาร์บอนไดออกไซด์รวม (TCO2) เป็นค่าที่ใช้ประเมินความเข้มข้นของไบคาร์บอเนตในร่างกาย ปกติแล้วความเข้มข้นของไบคาร์บอเนตจะใกล้เคียงกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ตรวจวัดได้คือประมาณ 95 % เมื่อความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์รวมเปลี่ยนแปลงก็จะทำให้ความเข้มข้นของคาร์บอเนตไอออนเปลี่ยนตามไปด้วย จึงใช้ในการประเมินการเปลี่ยนแปลงสมดุลกรด-ด่าง ที่เปลี่ยนแปลงทางเมตตาบอลิซึมในส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการหายใจ ช่วงค่าความเข้มข้นไบคาร์บอเนตและคาร์บอนไดออกไซด์รวมของโคปกติคือ 17-29 และ 21-34 mmol/L เมื่อความเข้มข้นของไบคาร์บอเนตและคาร์บอนไดออกไซด์รวมลดลงจะทำให้ความผิดปกติของ metabolic acidosis รุนแรงเพิ่มขึ้น และความเข้มข้นของไบคาร์บอเนตและคาร์บอนไดออกไซด์รวมเพิ่มขึ้นในรายที่เป็น metabolic alkalosis

Anion Gap
Anion gap (mmol/L)= (Na+K)-(Cl+HCO3)
ค่า Anion gap สะท้อนถึงค่าการเปลี่ยนแปลงของอิเลกโทรไลต์ในร่างกายแต่การแปลผลมีความคลาดเคลื่อนได้ (13-20 mmole/l) ในกรณีที่สัตว์เกิดภาวะผิดปกติของเมตตาบอลิซึมที่ร่างกายมีกรดสะสมมากกว่าปกติ เนื่องจากสูญเสียไบคาร์บอเนตและมักร่วมกับโซเดียมไอออน ค่า anion gap จะไม่เปลี่ยนแปลง ถ้ากรดแลกติคสะสมมากกว่าปกติ anion gap จะเพิ่มขึ้นเนื่องจากไบคาร์บอเนตลดลงแต่คลอไรด์คงที่ ยังพบ anion gap สูงในรายที่เกิดภาวะช็อคจากของเหลวในเลือดต่ำ





เอกสารอ้างอิง

กัลยา เจือจันทร์. 2541. เอกสารประกอบการสอนเรื่อง ภาวะทางระบบทั่วไป. คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น. ขอนแก่น. หน้า 47-65
อนันตชัย ชัยยศวิทยากุล. ไม่ระบุปี. อายุรศาสตร์สัตว์เคี้ยวเอื้อง. คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, ขอนแก่น.
Carlson, G.P. 1990. Clinical chemistry test. In: Smith, B.P. (ed.) Large Animal Internal Medicine. 1st editions. Mosby,Inc. A Hartcourt Health Sciences. St. Louis. pp.398-412
Morag, G.K. 2002. Veterinary Laboratory Medicine. 2nd edition. Blackwell Science. London. pp. 81-90 ฟ

Thursday, April 18, 2013

การจดทะเบียนรถติดตั้งแก๊ส LPG หรือ CNG


การจดทะเบียนรถติดตั้งแก๊ส LPG หรือ CNG

ที่มา : quikfitthailand.com , thaigascar.com

จดทะเบียนรถรถติดตั้งแก๊สที่กรมการขนส่งทางบก ,แจ้งแก้ไขชนิดเชื้อเพลิง รถติดตั้งแก๊ส LPG หรือ CNG


แจ้งแก้ไขชนิดเชื้อเพลิง การจดทะเบียน รถติดตั้งแก๊ส


หลังจากติดตั้งแก๊สรถยนต์ LPG หรือ CNG เสร็จแล้ว จะต้องไปแจ้งแก้ไขชนิดเชื้อเพลิงในสมุดคู่มือทะเบียนรถให้ถูกต้องตามกฎหมายด้วยนะครับ (จดทะเบียนรถติดตั้งแก๊ส LPG หรือ CNG)

โดยสามารถยื่นเรื่องที่ กรมการขนส่งทางบก หรือสํานักงานขนส่งจังหวัดทั่วประเทศ และเตรียมเอกสารที่เกี่ยวข้องไปทั้งหมด

ขั้นตอนการจดทะเบียนรถใช้แก๊ส

1.ทำการนำเอกสารที่อู่ติดตั้งแก๊สรถยนต์มอบให้ ประกอบด้วยใบวิศวะจากผู้ตรวจและหนังสือ ตต.09 จากอู่ติดตั้งแก๊สรถยนต์
2.ทำการเตรียมสำเนาบัตรประชาชนและหนังสือเล่มทะเบียนรถ (ใช้สำเนาเล่มทะเบียนรถแทนได้) ไปด้วย
3.ในการแจ้งเปลี่ยนชนิดเชื้อเพลิง ผู้แจ้งจะต้องมีชื่อเป็นผู้ครอบครอง ตามหนังสือเล่มทะเบียนรถ (หากเจ้าของรถไม่สะดวกหรือรถยังติดไฟแนนซ์อยู่ให้ทำหน้งสือมอบอำนาจไป)
4.ในกรณีรถยังติดไฟแนนซ์ แต่เรามีชื่อเป็นผู้ครอบครองรถ สามารถทำการจดทะเบียนได้เลย โดยไม่ต้องแจ้งไฟแนนซ์ เพราะทุกๆรอบการต่อภาษีรถยนต์ ไฟแนนซ์จะทำการอัพเดทลงเล่มทะเบียนให้เอง
5.ไปที่กรมการขนส่งทางบก พื้นที่ใดก็ได้ แล้วทำการขอเอกสาร “แบบคำขอแก้ไขเพิ่มเติมรายการในทะเบียนรถ” จากเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์
6.ทำการติ๊กถูกในช่อง “เปลี่ยนชนิดเชื้อเพลิงเป็น” แล้วกรอกเพิ่มเติมว่า
- 1.ในกรณีที่ติดแก๊ส LPGให้ลง “ก๊าซปิโตรเลียมเหลว”
- 2.ในกรณีที่ติดแก๊ส NGVให้ลง “ก๊าซธรรมชาติอัด”
7.ในช่อง “พร้อมนี้ได้ทำการแนบหลักฐานประกอบคำขอ” ให้ทำการกรอกเพิ่มดังนี้
- 1.หนังสือรับรองจากผู้ติดตั้งและวิศวกร
- 2.สำเนาบัตรประชาชน
- 3.ใบคู่มือจดทะเบียน
8.นำรถไปตรวจสภาพในช่องตรวจสภาพรถ
9.ยื่นเอกสารทั้งหมดให้กับเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่จะทำการตรวจสภาพการติดแก๊ส และขูดหมายเลขตัวถังรถ
10.เจ้าหน้าที่ทำการขูดหมายเลขถังแก๊ส
11.เจ้าหน้าที่ทำการกรอกข้อมูลลงในเอกสารและคอมพิวเตอร์ ให้เรานั่งรอรับเอกสาร
12.ทำการชำระเงินค่าจดทะเบียน 125 บาท เจ้าหน้าที่จะทำการลงข้อมูลในเล่มให้ เป็นอันเสร็จสิ้นขั้นตอนทั้งหมด

**หมายเหตุ 
- ควรทำการแจ้งเปลี่ยนชนิดเชื้อเพลิง ภายใน 15 วัน ตามวันที่ของหนังสือรับรอง ไม่เช่นนั้น หากเลยกำหนด จะโดนค่าปรับ 200 บาท ในกรณีแจ้งช้าครับ
- สำเนาทุกใบทั้งของวิศวกรผู้ตรวจและเจ้าของรถ ต้องมีลายเซนต์สำเนาถูกต้องของแต่ละคนกำกับด้วย (แยกของใครของมัน ไม่ใช่มีทั้งสองคนทุกใบนะครับ)

Monday, April 15, 2013

สรีรวิทยาการเหนี่ยวนำไฟฟ้าในหัวใจ

สรีรวิทยาการเหนี่ยวนำไฟฟ้าในหัวใจ(Cardiac action potential)



     
by Doctor Heart
http://www.perfectheart.co.th/th_knowledge36.html


          cardiac action potential เป็นปรากฏการณ์ทางไฟฟ้าที่มีการเปลี่ยนแปลงความต่างศักย์ไฟฟ้าภายในและภายนอกเซลล์ของหัวใจ อันเป็นผลจากการไหลเข้าออกของประจุไฟฟ้า โดยเฉพาะโซเดียมไอออน, โปแตสเซียมไออน และแคลเซียมไอออน ผลที่ตามมาคือ มีการหดตัวของ เซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ
          ในภาวะปกติ เซลล์ของกล้ามเนื้อหัวใจจะมีประจุไฟฟ้า ที่ผนัง membrane เป็นลบ (negative membrane potential) เมื่อมีการสั่งการทำงานจากระบบประสาทอัตโนมัติ จะทำให้มีการเพิ่มของประจุแคลเซียมไอออนภายในเซลล์ ทำให้มีการหดตัวของเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ
โดยกลไกการเกิดแคลเซียมภายในเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจจะแตกต่างจากเซลล์กล้ามเนื้อเรียบ
          กล่าวคือ ในกรณีของเซลล์กล้ามเนื้อเรียบ  เมื่อถูกกระตุ้นจากเส้นใยประสาท somatic motor axon จะทำให้โซเดียมไอออนเข้าสู่เซลล์ อย่างรวดเร็ว เกิดกระบวนการ depolarization ภายในเซลล์ และเป็นผลให้มีการกระตุ้นการหลั่งของแคลเซียมไอออนจาก sarcoplasmic reticulumภายในเซลล์



         ส่วนในกรณีของเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจจะมีส่วนที่เรียกว่า voltage-gated calcium channels บนผนังเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ (sarcolemma) เมื่อถูกกระตุ้นจะทำให้เกิด depolarization โดยมีการไหลเข้า ของโซเดียมไอออน (sodium influx)ซึ่งตรงกับ phase 0 action potential จะทำให้ voltage-gated calcium channels* เปิดเป็นผลให้ แคลเซียมไอออนไหล(influx)เข้าไปในเซลล์ ซึ่งกระบวนการเกิด calcium influx นี้จะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการหลั่งของแคลเซียมไอออนจาก sarcoplasmic reticulum(ปรากฏการณ์นี้เราเรียกว่า calcium-induced calcium release) และเมื่อมีปริมาณ ประจุแคลเซียมไอออนอิสระ ในเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจเพิ่มขึ้น ก็จะกระตุ้นให้ actin-myosinทำงาน ทำให้เกิดการหดตัวของเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ ในที่สุด
         หลังจากที่เซลล์กล้ามเนื้อหัวใจมีการหดตัวแล้ว ก็จะมีช่วงdelay (absolute refractory period) และหลังจากนั้นก็จะเข้าสู่กระบวนการ repolarization โดย potassium channels จะเปิดออก เป็นผลให้ โปแตสเซียมไอออนออกจากเซลล์ ทำให้เซลล์กลับเข้าสู่ resing state อีกครั้ง
หมายเหตุ *voltage-gated calcium channels จะมี 2 ชนิดคือ
-L-type channels จะตอบสนองต่อ membrane potentials ที่สูงกว่า แต่จะเปิดช้ากว่า และเปิดนานกว่า T-type channels จึงมีความสำคัญในการคงสภาวะ action potentials(sustaining an action potential)
-T-type channnels มีความสำคัญในช่วงแรกของการกระตุ้นให้เกิด action potential เนื่องจากคุณสมบัติที่เปิดได้เร็ว ซึ่งมักพบได้ในเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจที่เกี่ยวกับจังหวะการกระตุ้นทางไฟฟ้าในหัวใจ ซึ่งก็คือ pacemaker cells นั่นเอง(sinoatrial node, atrioventricular node)
PHASES OF CARDIAC ACTION POTENTIAL
โดยปกติ action potential ของเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ จะมีรูปร่างไม่เหมือนกันดังรูป แต่แบบที่ทั่วไปมักนำมาใช้ในการอธิบาย cardiac action potential ได้แก่เซลล์กล้ามเนื้อหัวใจห้องล่าง
Phase4 resting membrane potential 
        เป็นระยะปกติของเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ ก่อนที่จะถูกกระตุ้นทางไฟฟ้า ซึ่งมักจะถูกกระตุ้นมาจากเซลล์ที่ติดกัน(และในกรณีของ pacemaker cells จะสามารถมี spontaneous depolarization ได้โดยไม่ต้องถูกกระตุ้นจากเซลล์ข้างเคียง) phaseนี้จะตรงกับ ช่วงกล้ามเนื้อหัวใจคลายตัว (diastole)
        ค่าปกติของสถานะนี้คือ -85 to -95 mV ซึ่งประจุไฟฟ้าที่สำคัญ ภายในเซลล์คือ โปแตสเซียมไอออน ขณะที่ภายนอกเซลล์จะมี โซเดียมไอออนและคลอไรด์ไอออนเป็นหลัก ซึ่งการที่เซลล์คงสภาพอยู่ได้ก็โดยอาศัย sodium-potassium pump(Na+/K+-ATPase)ทำหน้าที่ปั๊มโซเดียมไอออนออกจากเซลล์ และปั๊มโปแตสเซียมไอออนเข้าไปในเซลล์ โดยกระบวนการ active transport ซึ่งต้องใช้พลังงานจาก ATP
Phase0 rapid depolarization phase
เป็นช่วงที่เกิด depolarization ของเซลล์ โดยจะมีการเปิด fast Na+channel ทำให้โซเดียมไอออนไหลเข้าเซลล์อย่างรวดเร็ว ตรงกับกราฟ ช่วงขาขึ้นชันของ action potential

Phase1 action potential
จะมีการปิดของ fast Na+channel และมีการเคลื่อนออกจากเซลล์ของโปแตสเซียมไอออน ทำให้กราฟช่วงนี้จะเป็นเส้นที่ต่ำลงกว่าเดิมเมื่อเทียบกับ peak ของ phase 0

Phase2 plateau phase

เกิดจากสมดุลย์ของประจุที่เกิดจากแคลเซียมไอออนเข้าเซลล์ทาง voltage-gated calcium channels และโปแตสเซียมไอออน ออกจากเซลล์ ผ่านทาง slowed delayed rectifier potassium channels ซึ่งในช่วงนี้ sodium-potassium pump จะมีบทบาทการทำงานน้อย

Phase3 action potential

voltage-gated calcium channelsจะปิด ในขณะที่ slowed delayed rectifier potassium channels ยังคงเปิดอยู่ ทำให้ศักย์ไฟฟ้าในเซลล์เริ่มลดต่ำลงเรื่อยๆ เป็นผลให้เซลล์เริ่ม repolarize จนเมื่อ membrane potential กลับมาอยู่ที่ประมาณ -80 to -85 mV delayed rectifier K+ channels จะปิด

หมายเหตุ แคลเซียมไอออนภายในเซลล์จะมีกระบวนการดูดกลับเข้าไปใน sarcoplasmic reticulum ดังเดิม ที่เราเรียกว่า re-uptake โดยการทำงานของ sarcoplasmic calcium ATPase pump

Sunday, April 14, 2013

มารยาทที่สำคัญเวลาต้องไปพักที่โรงแรม by Rosa Songtanin


มารยาทที่สำคัญเวลาต้องไปพักที่โรงแรม

Posted August 14th, 2011 in มารยาทสังคม by rosa
โรงแรมเป็นสถานที่ ที่รวมนักท่องเที่ยวจากต่างๆนาๆ เราควรจะรักษาท่าทีอันสง่างามเพื่อเป็นเกรียติกับชาติตระกูล และประเทศชาติของเราเอาไว้
ธรรมเนียมปฎิบัติที่งดงามมีตัวอย่างดังนี้
  1. ไม่ควรทำเสียงดังหรือร้องรำทำเพลงไปทั่ว ยกเว้นแต่เป็นบังกะโลส่วนตัวจริงๆ  ซึ่งเราควรจะนึกถึงความสงบของห้องข้างเคียงด้วย
  2. ผ้าขนหนูในห้องน้ำ จะมีไซส์มาตรฐานอยู่  3 ผืน คือ เล็ก กลาง และใหญ่  ผืนที่เล็กที่สุดนั้น มีขนาดประมาณผ้าเช็ดหน้า  ผืนนี้ไว้ใช้ถูตัวตอนอาบน้ำ หรือ เช็ดทำความสะอาดอ่างล้างหน้าเมื่อเสร็จธุระ (ในกรณีที่คุณแชร์ห้องพัก คุณควรจะเช็ดอ่างอาบน้ำให้สะอาด เหมือนใหม่ด้วย)  ผืนขนาดกลางมีไว้เช็ดหน้าหรือไว้คลุมผม   ส่วนผืนใหญ่ที่สุดไว้สำหรับเช็ดตัวหรือจะใช้ห่อตัวเมื่อคุณอาบน้ำเสร็จก็ได้
  3. เวลาอาบน้ำให้ปิดม่านทุกครั้ง โดยที่ปลายของตัวม่านจะต้องอยู่ในอ่าง เพื่อไม่ให้น้ำกระเด็นกระดอนออกมาด้านนอก
  4. โรงแรมจะมีสมุดไดเร็ททอรี่ และ เอกสารแนะนำโรงแรมรวมถึงสถานที่ใกล้เคียง ซึ่งเป็นข้อมูลที่สำคัญ และมีประโยชน์ในยามฉุกเฉิน ส่วนมากจะเป็นแฟ้มอยู่บนโต๊ะทำงาน หรือข้างหัวเตียง  คุณสามารถหยิบมาดูได้ และหากมี postcard  กระดาษจดหมาย ซองจดหมาย และปากกา ที่คุณรู้สึกชอบคุณก็สามารถติดตัวกลับบ้านเป็นของที่ระลึกได้  ส่วนของอย่างอื่น เช่น ผ้าขนหนู เสื้อคลุม ไม้แขวนเสื้อ ฯลฯ หากทางโรงแรมไม่ได้เขียนว่าให้คุณ  แปลว่าคุณต้องชำระเงิน หากนำติดตัวมาค่ะ
  5. โรงแรมส่วนใหญ่จะมีน้ำเปล่าบริการ (ส่วนมากจะมีกระดาษแนบอยู่ และมีตัวภาษาอังกฤษว่า Complimentary) หากคุณอยู่มากกว่าหนึ่งคืนและคุณต้องการน้ำเพิ่ม คุณสามารถโทรไปที่ห้อง maid เพื่อขอน้ำเปล่าบริการเพิ่มได้ค่ะ
  6. เมื่อออกจากห้องให้นำกุญแจออกจากห้องติดตัวไปเสมอ  โรงแรมส่วนใหญ่จะมีบริการรับฝากกุญแจไว้คอยบริการเพื่อที่คุณจะได้ไม่ต้องกังวลว่าจะทำหาย
  7. ของใช้ส่วนตัว ควรจะพับเก็บให้เรียบร้อย แม้จะมีพนักงานคอยดูแลทำความสะอาดก็ควรจะพับเอง
  8. การให้ทิปก็เป็นความรู้อย่างหนึ่งเหมือนกัน หากให้มากเกินไปก็จะเป็นภาระของผู้ใหญ่  น้อยไปก็จะถูกเยาะเย้ยลับหลัง  โดยทั่วไปเงินค่าทิปจะคิดเป็น  1  %  ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด จะเหมาะสมที่สุด  ซึ่งเราสามารถวางไว้ที่บนเตียงนอนได้
สุดท้าย  คนที่ได้รับการศึกษาอบรมมาดี และมีมารยาทงาม เวลาเข้าพักในโรงแรมก็จะใช้ไฟ ใช้น้ำอย่างประหยัด  เหมือนอยู่ในบ้านของตนเอง

มารยาทในการใช้นามบัตร by Rosa Songtanin


มารยาทในการใช้นามบัตร

Posted May 6th, 2011 in General Managementมารยาทสังคม by rosa
นามบัตร หรือ Business Card เสมิอนเป็นตัวแทนของคุณ ดังนั้น การเลือกใช้นามบัตร การส่งมอบนามบัตร และการปฎิบัติตัวหลังได้รับนามบัตรมา ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เมื่อเรามอบนามบัตรให้กับใคร พึงระลึกไว้เสมอว่า เรามีความรับผิดชอบ ต่อหน่วยงานที่เราสังกัดอยู่ด้วย
เนียร์ได้มีโอกาสไปพบปะลูกค้า, พูดคุยกับ vendor, พบเจอเพื่อนฝูง รวมถึงโอกาสทางการค้าต่างๆ และได้เรียนรู้การใช้นามบัตรอย่างถูกต้อง จากผู้ใหญ่ ผู้รู้ จากประสบการณ์จริง วันนี้จะมาเล่าให้ฟังว่า มารยาทในการใช้นามบัตร นั้นมีอะไรบ้าง

นามบัตร ส่วนตัว
นามบัตรที่ดี
1. ตัวหนังสืออ่านง่าย โดยเฉพาะ ชื่อ นามสกุล ชื่อหน่วยงาน มีเบอร์โทรติดต่อ และ e-mail หลักสำคัญคือต้องไม่มีตัวอักษรใดอ่านยาก กำกวม หรือ พิมพ์ผิด
สำหรับ ชื่อเล่น นั้น จะมีหรือไม่มีก็ได้ หากชื่อภาษาไทยของเราอ่านยาก ต้องมีภาษาอังกฤษด้วย เพื่อผู้รับจะได้อ่านชื่อเราได้ถูก
2. มีรูปแบบที่เรียบง่าย จะต้องไม่ดูเลอะเทอะ จนทำให้ดูเหมือนของไม่มีค่า ไม่น่าอ่าน ไม่น่าเก็บรักษา
3. ใบใหม่ มีความสะอาด เรียบร้อย ไม่มีรอยเปื้อน หรือมุมงอหรือพับ การใช้นามบัตรเก่าหรือเบอร์โทรศัพท์ที่ไม่เป็นปัจจุบัน แสดงให้เห็นว่าผู้ให้ไม่ค่อยได้ใช้ และแสดงความไม่ประทับใจให้กับผู้รับอีกด้วย
4. มีขนาดมาตรฐาน ในบางกรณี หากทำธุรกิจเกี่ยวกับการออกแบบ หรืองานศิลปะ อาจจะเป็นรูปทรงที่สี่อความหมายถึงหน้าที่งาน หรือ อาชีพ ได้ด้วย เช่น ช่างภาพ อาจจะ di-cut นามบัตร ออกมาเป็นรูปกล้อง หรือรูปFilm เป็นต้น
สำหรับนามบัตรส่วนตัว ไม่ควรจะมีชื่อของบริษัท ตำแหน่ง หรือ เบอร์โทรศัพท์ของบริษัท ควรจะแยกแยะเรื่องงาน เรื่องส่วนตัวออกจากกัน อีกทั้งจะได้ไม่มีโทรศัพท์ส่วนตัวมาโทรมารบกวนที่ทำงานด้วย
การมอบนามบัตร และการปฏิบัติตน
1. โดยมากผู้ที่เป็นเด็กจะต้องเป็นฝ่ายมอบให้กับผู้ใหญ่ เมื่อผู้ใหญ่ได้รับนามบัตรแล้ว จะหยิบของตนยี่นให้กลับไป
2. เมื่อไปหาบริษัทอื่น ผู้ไปจะต้องเป็นฝ่ายยื่นให้ เพื่อเป็นการแทนความหมายว่า “ขออภัยที่มารบกวนเวลาของคุณ”
3. เมื่อหานามบัตรไม่เจอไม่ต้องรีบร้อน ลุกลน ให้บอกชื่อของตนเอง และตำแหน่งช้าๆ อย่างชัดเจน หลังจบการสนทนาให้บอกเบอร์โทรศัพท์สำหรับติดต่องานไว้ด้วย
4. หากนามบัตรหมด ต้องไม่ลืมนำไปด้วยในครั้งหน้า อย่างเด็ดขาด
5. ควรจะมีกระเป๋าใส่นามบัตร โดยเฉพาะ
6. มอบนามบัตรให้ด้วยความรู้สึกที่ดี และหากนั่งอยู่ ต้องลุกขึ้นยืนก่อน
7. หากต้องมอบนามบัตรให้ทีละหลายคน ให้มอบให้คนที่อาวุโสที่สุดก่อน
8. เก็บรักษานามบัตรที่ได้รับมาอย่างสุภาพ กวาดตาดูชื่อ ตำแหน่ง และจำให้ได้ และเก็บใส่ซองนามบัตร
หากยังจำชื่อไม่ได้ อาจจะวางไว้ที่โต๊ะก่อนและชำเลืองดูระหว่างสนทนา พยายามเรียงนามบัตร ตามที่นั่งของผู้ให้ จะได้ไม่สับสน
9. พยายามบันทึกวันที่และเวลาที่ได้พบปะไว้หลังนามบัตร กันลืม อาจจะจดลักษณะเด่นของผู้ให้ ไว้ด้วย

Tuesday, April 9, 2013

ความรู้เกี่ยวกับการให้เลือด โดย คุณสุดารัตน์ เพชรินทร์


เข็มให้เลือด เลือกใช้คล้ายการให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ การให้ pack red cell จะใช้เข็มเบอร์ 18 หากเป็น Whole Blood หรือ Plasma ใช้เบอร์ 18-20

ชุดให้เลือด
คล้ายชุดให้สารน้ำ ทางหลอดเลือดดำแต่มีข้อแตกต่างคือ ตรงกระเปาะพักเลือดจะมีถุงกรองเลือดอยู่ภายใน ถุงกรองนี้จะช่วยกรองชิ้นเศษ (Particulate debris) ได้ การใช้ชุดให้เลือดต้องเปลี่ยนทุกครั้งที่เปลี่ยนขวดให้เลือดใหม่ หากกระทำไม่ได้ควรเปลี่ยนเมื่อให้เลือดทุก 2-4 ยูนิต

วัตถุประสงค์ของการให้เลือด
1. เพื่อทดแทนเลือดที่สูญเสียไป เช่น ผู้ป่วยตกเลือด
2. เพื่อทดแทนเม็ดเลือดแดง และมีฮีโมโกลบิน เช่น ผู้ป่วยโลหิตจาง
3. เพื่อทดแทนปัจจัยการแข็งตัวของเลือด

หลักการให้เลือด
ใช้หลักกีดกั้นเชื้อ

ขั้นตอนและวิธีการการให้เลือด
การเตรียมเลือดเพื่อให้ผู้ป่วย
1. เจาะเลือด Clotted blood จำนวน 5-10 มิลลิลิตร สำหรับส่งธนาคารเลือดเพื่อหาหมู่เลือด (Typing) และ (Cross-Matching) ( การทดสอบว่าเลือดผู้ให้กับผู้รับเข้ากันได้หรือไม่ )
เวลาเจาะเลือดผู้ป่วย ต้องตรวจดู ชื่อ นามสกุล ของผู้ป่วยให้ถูกต้อง และถาม ชื่อ นามสกุล ผู้ป่วยอีกครั้งเพื่อให้แน่ใจก่อนจะเจาะเลือด และเจาะใส่หลอดแก้วที่ทางธนาคารเลือดเตรียมไว้ให้ฉลากปิด tube ต้องระบุชื่อ นามสกุล เลขประจำตัวผู้ป่วย วันที่ หอผู้ป่วยให้ชัดเจน
2. ส่งเลือดพร้อมใบขอเลือด ซึ่งแพทย์เป็นผู้กรอกข้อความอย่างครบถ้วนไปยังธนาคาร
เลือด
3. เมื่อได้เลือดจากธนาคารเลือด ให้ตรวจดู ชื่อ นามสกุล เลขประจำตัวผู้ป่วย วันที่
หอผู้ป่วยว่าถูกต้องตรงกับตัวผู้ป่วยหรือไม่ จากนั้นตรวจชื่อ นามสกุล ชนิดของเลือด หมู่เลือด Blood Number ของ Donor กับ Recipient ให้ตรงกันทั้งในใบแจ้งที่คล้องมากับถุงเลือดใบขอเลือด และป้ายข้างขวดว่าตรงกันหรือไม่
4. เมื่อตรวจทานดูจนแน่ใจแล้ว ต้องตรวจดูเลือดในถุงว่ามีฟองแก๊ส (Gas bubbles) ซึ่งอาจแสดงว่ามีการเกิดของแบคทีเรียหรือถ้าสีเลือดผิดไปจากเดิม อาจจะเป็นเครื่องบ่งชี้ว่ามีการแตกของเม็ดเลือดแดง
5. ป้องกันการแตกของเม็ดเลือดแดง โดยถ้าไม่ให้ผู้ป่วยควรส่งคืนธนาคารเลือดภายใน
30 นาที ไม่เก็บไว้ในตู้เย็นของหอผู้ป่วย ไม่อุ่นถุงหรือขวดเลือดด้วยน้ำร้อน ให้ทิ้งไว้ในอุณหภูมิห้องหรือแช่ในน้ำธรรมดา

เครื่องใช้
1. เลือดที่ต้องการให้
2. เข็มเบอร์ 18, 20 ยาว 1 ½ นิ้ว ( เบอร์เข็มและชนิดของเข็มเลือกตามชนิดของเลือดที่ให้ )
3. Set ให้เลือด 1 set
4. Stand และสาแหรก ( สำหรับเลือดที่บรรจุเป็นขวด )
5. สายรัด
6. สำลีชุบ Alcohol 70% สำลีชุบ Tr Iodine 2.5%
7. ชามรูปไต
8. Syringe 2 ซีซี
9. พลาสเตอร์
10. ไม้รองแขน
11. ก๊อซขนาดเล็กที่ปราศจากเชื้อ

วิธีการ
1. ตรวจดูให้แน่ใจอีกครั้งว่าเลือดที่ได้จากธนาคารเลือดเป็นเลือดที่จะให้ผู้ป่วยคนที่
ต้องการโดยดู ชื่อ นามสกุล HN, AN หมู่เลือดให้ตรงกัน
2. บอกให้ผู้ป่วยนอนในท่าที่สบาย เพราะการให้เลือดต้องใช้เวลานาน ควรให้ผู้ป่วยถ่ายปัสสาวะเสียก่อน
3. ประเมินสัญญาณชีพ เพื่อใช้เปรียบเทียบเวลามีอาการผิดปกติ
4. เตรียมเครื่องใช้ในการให้เลือด
  5. ล้างมือให้สะอาด
6. นำเครื่องใช้ไปที่เตียงผู้ป่วย
7. ต่อชุดให้เลือดเข้ากับขวด ( ถุง ) เลือดแขวน ขวด ( ถุง ) เลือดให้สูงกว่าหัวใจประมาณ 3-4 ฟุต เปิดเกลียวปรับหยดให้เลือดผ่านที่กรองไล่ฟองอากาศออกจากชุดให้เลือดให้หมดปิดเกลียวปรับหยด
8. รัดสายรัดเหนือบริเวณที่จะให้เลือดประมาณ 4 นิ้ว ให้ผู้ป่วยกำมือสลับกับแบมือช้า ๆ เพื่อให้เลือดคั่งเห็นหลอดเลือดได้ชัด
9. ใช้สำลีชุบ Tr iodine 2.5% เช็ดบริเวณที่จะให้เลือดกว้าง 2 ” -3 ” และเช็ดซ้ำด้วยสำลีชุบ alcohol 70%
10. ใช้กระบอกฉีดยา 2 ซีซี ต่อกับเข็มที่จะแทงผู้ป่วย แทงเข็มเข้าในหลอดเลือดดำ ถ้าเข้าหลอดเลือด เลือดจะไหลเข้ามาใน Syringe ปลดสายรัดออก
11. ปลดกระบอกฉีดยาออกจากหัวเข็ม รีบต่อชุดให้เลือดกับเข็ม เปิดเกลียวปรับหยดระยะแรกของการให้เลือด ปรับหยดใน 15-30 นาทีแรกประมาณ 20 หยด / นาที ถ้าไม่มีปฏิกิริยาใดเกิดขึ้นให้ปรับอัตราการหยดของเลือดให้เร็วขึ้นตามสภาพของผู้ป่วย หรือตามแผนการรักษา โดยทั่วไปถ้าเป็นเลือด 1 หน่วย ( ประมาณ 300 มิลลิลิตร ) ให้หมดภายใน 2-4 ชั่วโมง Plasma ให้หมดใน 2 ชั่วโมง
12. ปิดรอยแทงเข็มด้วยผ้าก๊อซปราศจากเชื้อ ติดพลาสเตอร์ ยึดหัวเข็มกับแขนของผู้ป่วยในกรณีที่แทงเข็มบริเวณข้อพับ หรือผู้ป่วยเคลื่อนไหวตัวมากให้ใช้ไม้รองแขนรองใต้แขน
13. นำเครื่องใช้ไปทำความสะอาดเก็บเข้าที่
14. บันทึกรายงานเกี่ยวกับเวลา ชนิดของเลือด หมู่เลือด จำนวน และอาการภายหลังการให้เลือด
15. เมื่อผู้ป่วยมีภาวะแทรกซ้อนจากการให้เลือด ควรหยุดให้เลือดและส่งเลือดผู้ป่วยหลังการให้เลือด เลือดที่เหลือในถุงและแบบฟอร์มที่ต้องการกรอกส่งคลังเลือดในรายมีอาการผิดปกติไปตรวจสอบที่ธนาคารเลือด

ข้อควรระวัง
ระวังปฏิกิริยากับสารน้ำและยาอื่น ๆ สารน้ำชนิดเดียวที่จะให้พร้อมเลือดได้คือ NSS สารน้ำอื่น ๆ เช่น 5% Dextrose in water จะทำให้เม็ดเลือดแดงจับกลุ่มกัน สารน้ำพวก Ringer ' s solution จะทำให้เกิดลิ่มเลือดขึ้นเพราะมีแคลเซียมมาก ไม่ฉีดยาทางหลอดเลือดดำที่ให้เลือดอยู่ ถ้ามีความจำเป็นต้องให้ยาต้องฉีด NSS เข้าหลอดเลือดดำก่อนและหลังการฉีดยาทุกครั้ง

การฟังเสียงปอดอย่างง่าย โดย ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์


คัดลอกมาจาก: 
นิตยสารหมอชาวบ้าน 43
พฤศจิกายน 1982
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์


การตรวจทรวงอกด้วยการใช้เครื่องฟัง (stehoscope) มักจะใช้ฟังเสียงที่เกิดจากการหายใจ และเสียงที่เกิดจากหัวใจเต้น

เสียงที่เกิดจากการหายใจอาจจะแบ่งออกเป็น
ก.เสียงหายใจ
ข.เสียงพูดหรือเสียงกระซิบ
ค.เสียงอื่น ๆ 
                

ก.เสียงหายใจ ที่ได้ยินอาจจะแบ่งออกเป็น 3 ชนิด คือ
ก.1 เสียงถุงลม (vesicular breath sound)
เป็นเสียงที่ได้ยินจากบริเวณส่วนใหญ่ของทรวงอก ในขณะที่เสียงอีก 2 ชนิด ได้ยินในบริเวณแคบ ๆเล็ก ๆ ของทรวงอกเท่านั้น(ดูรูปที่1)ก.2 เสียงหลอดลมถุงลม(broncho-vesicular breath sound)
เป็นเสียงที่มีลักษณะระหว่างเสียงถุงลมกับเสียงหลอดลมซึ่งได้ยินในบริเวณส่วนกลางของทรวงอกด้านบน ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง(ดูรูปที่1)ก.3 เสียงหลอดลม (bronchial or tracheal breath sound)
เป็นเสียงที่มีลักษณะเสียงต่างจากเสียงถุงลมมาก และได้ยินในบริเวณคอด้านหน้า และด้านหลังเท่านั้น(ดูรูปที่ 1)
  
เสียงหายใจทั้ง 3 ชนิด ถ้าเขียนเป็นรูปเพื่อเปรียบเทียบให้เห็นง่ายเข้า จะเป็นดังรูปที่ 2 ซึ่งแสดงให้เห็น(ดูรูปที่ 2)เสียงถุงลมในขณะหายใจเข้าดังและยาวกว่าในขณะหายใจออกในบริเวณชายปอด(ทรวงอกส่วนล่าง) เสียงหายใจเข้าจะดังและยาวกว่าเสียงหายใจออกมากกว่าในบริเวณอื่น จนเสียงหายใจออกอาจจะค่อยและสั้นมากจนเกือบไม่ได้ยินเสียงเลย เสียงหายใจเข้าก็ค่อยกว่าที่ได้ยินในบริเวณทรวงอกส่วนบน
เสียงหลอดลมถุงลม มีลักษณะเป็นเสียงผสมระหว่างเสียงถุงลมกับเสียงหลอดลม ทำให้มีลักษณะเสียงได้หลายลักษณะ ขึ้นอยู่กับว่าเสียงนั้นเกิดจากหลอดลมมากหรือเกิดจากถุงลมมาก

เสียงหลอดลม ซึ่งฟังที่บริเวณคอ จะดังและชัดกว่าเสียงถุงลมและเสียงหลอดลมถุงลม เสียงหลอดลมในขณะหายใจเข้า จะค่อยกว่าและสั้นกว่า ในขณะหายใจออกและมักจะมีช่องว่าง (ไม่มีเสียงหายใจให้ได้ยิน) ในตอนสุดของการหายใจเข้าและตอนต้นของการหายใจออก
การฟังเสียงหายใจ ควรฟังในขณะที่ผู้ถูกตรวจหายใจเข้าออกแรง ๆ ทางปาก(อ้าปากหายใจ)จะทำให้ได้ยินเสียงหายใจจากปอดและหลอดลมชัดเจนขึ้น และไม่มีเสียงกวนจากรูจมูก ที่ตีบจากการคัดจมูก หรืออื่น ๆ มาแทรกอยู่
ในบางกรณี ที่คนไข้ไม่ยอมหายใจลึก ๆ แรง ๆ เช่นในเด็กหรือในผู้ใหญ่บางคน การทำให้เด็กร้องไห้ หรือการสั่งให้ไอ แล้วฟังตอนช่วงที่เขาต้องหายใจเข้า (ซึ่งเขาจะต้องหยุดร้องไห้และหยุดไอ) ก็จะฟังเสียงหายใจเข้าที่ลึกและแรงได้

               

ควรฝึกฟังเสียงหายใจเปรียบเทียบระหว่างปอดสองข้าง ใจตำแหน่งเดียวกัน(ดูรูปที่ 3) เพื่อจะเคยชินกับความแตกต่าง(ซึ่งมีน้อยมาก) ระหว่างเสียงหายใจของปอดสองข้างที่อยู่ในตำแหน่งเดียวกัน
ควรฝึกฟังเสียงหายใจในบริเวณต่าง ๆ ของทรวงอกของตนเอง หรือของญาติพี่น้องเป็นประจำจะทำให้ชินกับเสียงหายใจที่ปกติเมื่อได้ยินเสียงผิดปกติ จะได้รู้ว่าเป็นเสียงผิดปกติ

เสียงหายใจที่ผิดปกติ ที่พบบ่อยเช่น
1.เสียงถุงลมที่ดังมากกว่าปกติ มักพบในคนที่ผนังอกบาง เช่น เด็ก,คนผอม, ในขณะออกกำลังกาย ทำให้หายใจแรงและลึก, ในปอดส่วนที่ทำงานเพิ่มขึ้นแทนปอดอีกส่วนหนึ่งที่เสื่อมไป เช่น ถ้าปอดข้างซ้ายเป็นปอดบวม ปอดข้างขวาจะทำหน้าที่มากขึ้น ทำให้เสียงถุงลมในปอดข้างขวาดังมากขึ้น

2.เสียงถุงลมที่ดังน้อยกว่าปกติ
ถ้าดังน้อยกว่าปกติ ทั่วไปทั้ง 2 ข้าง มักพบใน
2.1 คนที่ผนังอกหนา

2.2 คนสูงอายุ

2.3 คนที่หายใจเบา ๆ
 เพราะหายใจแรงๆ ลึก ๆ ไม่ได้ เนื่องจากเจ็บผนังอกจากผนังอักเสบ เป็นฝี ถูกกระแทก ซี่โครงหัก กล้ามเนื้อซี่โครงเป็นอัมพาต ท้องโตมาจากน้ำ (ท้องมาน) จากไขมัน(คนอ้วนมาก ๆ) ทำให้ปอดขยายตัวไม่ได้ดี เป็นต้น

2.4 คนที่เป็นโรคปอดเรื้อรัง ทั้งสองข้าง โดยเฉพาะคนที่เป็นโรคถุงลมโป่งพอง (pulmonary emphysema) และโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง (chronicbronchitis) ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการสูบบุหรี่เรื้อรัง

2.5 คนที่หายใจเข้าออกลำบาก จากสาเหตุอื่น ๆ เช่น โรคคอตีบ หายใจเข้าออกทางจมูกที่ตีบคัด(คัดจมูก) หลอดลมคอตีบ(trachealstenosis) ซึ่งมักเกิดจากการเจาะคอเพื่อช่วยหายใจ เป็นต้น
เสียงถุงลมที่ดังน้อยกว่าปกติเฉพาะแห่ง นั่นคือ เฉพาปอดส่วนใดส่วนหนึ่ง จะเป็นปอดส่วนบน ส่วนกลางหรือส่วนล่าง ข้างซ้าย หรือข้างขวา เป็นต้น
ถ้าเสียงถุงลมดังน้อยกว่าปกติเฉพาะแห่ง (เฉพาะบางส่วน) มักเกิดจาก...

2.6 ปอดส่วนนั้นผิดปกติเช่น ปอดอักเสบ (pneumonitis) ปอดบวม (pneumonia)ปอดแฟบ (atelectasis) เป็นฝีในปอด (lung abscess) เป็นต้น ปอดผิดปกติเช่นนี้ นอกจากจะทำให้เสียงถุงลมดังค่อยแล้ว อาจจะทำให้เสียงถุงลมเปลี่ยนเป็นเสียงหลอดลมถุงลม หรือเสียงหลอดลมได้
ดังนั้น ถ้าฟังเสียงหลอดลมถุงลมหรือเสียงหลอดลมได้ในบริเวณส่วนอื่นของทรวงอก นอกจากบริเวณที่ได้ยินตามปกติ (ดูรูปที่ 1) ให้นึกถึง ภาวะปอดอักเสบ-ปอดแข็ง-ปอดแฟบในบริเวณนั้นด้วย
ภาวะปอดอักเสบ-ปอดบวม มักจะร่วมด้วยการไข้ (ตัวร้อน) ไอและมีเสมหะด้วย

2.7 โพรงเยื่อหุ้มปอด หรือเยื่อหุ้มปอดบริเวณนั้นผิดปกติ เช่นโพรงเยื่อหุ้มปอดมีลม (pneumothorax) มีน้ำ (hydrothorax)มีหนอง (pyothorax)มีเลือด (hemothorax) หรือ เยื่อหุ้มปอดเป็นพังผืดหนา (pleural thickening) เป็นสาเหตุที่พบบ่อย ที่ทำให้เสียงถุงลม เสียงพูด เสียงกระซิบ ในบริเวณนั้นค่อยกว่าปกติ หรือไม่ได้ยินเลย

2.8 หลอดลมบริเวณนั้นตีบหรือตัน เช่น เพราะมีเสมหะ เนื้องอก หรือมะเร็งไปอุดทำให้ลมหายใจเข้าออกผ่านหลอดลมบริเวณนั้นลำบาก เสียงหายใจ(เสียงถุงลม) ในบริเวณนั้นจึงค่อยลง หรือหมดไป

  

3.เสียงเปรี๊ยะ ( rales หรือ crepitations)
เป็นเสียงเปรี๊ยะ ๆ ที่มักได้ยินช่วงสุดท้ายของการหายใจเข้าเกิดจากหลอดลมอักเสบและมีเสมหะหรือน้ำ อยู่ในหลอดลม(ดูรูปที่ 4) อาจแบ่งได้เป็น 3 ชนิด คือ

3.1 เสียงเปรี๊ยะหยาบ (coarse crepitations)
เป็นเสียงเปรี๊ยะที่ดังและหยาบที่สุด ส่วนมากเกิดจากการมีเสมหะหรือน้ำในหลอดลมใหญ่ ๆ ถ้าดัง
มาก ๆ อาจได้ยินเสียงนี้ เมื่อยืนหรือนั่งอยู่ข้างๆ คนไข้ ที่เรียกว่า เสียงจมน้ำ(bubbing rales หรือ bubbling crepitations) ดูหมอชาวบ้านฉบับก่อน ในเรื่องการตรวจทรวงอกโดยการฟังที่ไม่ต้องใช้เครื่องฟัง เสียงเปรี้ยะหยาบ ๆ ในกรณีอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เสียงจมน้ำ มักพบได้ในคนสูงอายุ ที่หลอมลมเริ่มแข็งตัวมากกว่าปกติหรือมีเสมหะในหลอดลมใหญ่ ๆ ในกรณีหลังนี้ ถ้าให้คนไข้ไอสัก 2-3 ครั้ง เสียงเปรี๊ยะที่ได้ยิน อาจจะลดลงหรือหายไป

3.2 เสียงเปรี๊ยะปานกลาง (medium crepitations)
เป็นเสียงเปรี๊ยะที่ดังและหยาบปานกลาง ส่วนมากเกิดจากการมีเสมหะหรือน้ำในหลอดลมขนาดกลาง ซึ่งมักจะมีการอักเสบร่วมด้วย จึงพบเสียงนี้ในบริเวณปอดที่อักเสบ บวม หรือ แฟบ หรือหลอดลมโป่ง (bronchiectasis) วัณโรคปอด ปอดเป็นฝี หรืออื่น ๆ

3.3 เสียงเปรี๊ยะละเอียด (fine crepitations)
เป็นเสียวเปรี๊ยะที่ค่อยและละเอียดกว่า 2 ชนิดข้างต้น ส่วนมากเกิดจากการมีน้ำในหลอดลมเล็กๆ จึงมักพบเสียงนี้ในบริเวณปอดส่วนที่อยู่ต่ำ เช่น ปอดส่วนล่างด้านหลัง ในท่านอนหัวสูง หรือ ปอดส่วล่าง (บริเวณชายโครง หรือ เหนือชายโครง) ถ้าได้ยินเสียงเปรี๊ยะละเอียดในบริเวณดังกล่าวนึกถึง ภาวะหัวใจล้ม โดยเฉพาะถ้าคนไข้มีอาการหอบเหนื่อยร่วมด้วย (ดูรายละเอียดเรื่อง “ภาวะหัวใจล้ม” ในเรื่องโรคหัวใจ ในหมอชาวบ้าน ประจำเดือนสิงหาคม 2525)เสียงเปรี๊ยะที่หายไป หลังจากคนไข้ไอสัก 2-3 ครั้ง แสดงว่าเสียงนั้น มักเกิดจากเสมหะหรือน้ำเล็ก ๆ น้อยๆ ในหลอดลม และไม่ค่อยมีความสำคัญเท่ากับเสียงเปรี๊ยะที่ยังคงอยู่หรือดังขึ้น หลังจากคนไข้ไอแล้ว


4. เสียงกรอกแกรก (sonorous rhonchi)
เป็นเสียงที่คล้ายเสียงเปรี๊ยะแต่เบากว่า และไม่คมชัดเท่าเสียงเปรี๊ยะ และมักได้ยินในขณะหายใจออกมากกว่าในขณะหายใจเข้า แต่อาจได้ยินทั้งขณะหายใจเข้าและออกก็ได้ เสียงกรอกแกรก เกิดจากลมหายใจวิ่งผ่านหลอดลมที่ขรุขระด้วยการอักเสบ หรือมีเสมหะเหนียว ๆ ติดอยู่เป็นหย่อม ๆ

5. เสียงฮื้ดหรือ เสียงหวีด ( wheeze หรือ sibilant rhonchi)
เป็นเสียงที่อาจได้ยินโดยไม่ต้องใช้เครื่องฟัง เป็นเสียงหายใจที่มีลักษณะฮื้ด ๆ หรือ วี้ด ๆ มักจะได้ยินในขณะหายเข้า แต่อาจได้ยินทั้งในขณะหายใจเข้าและออกก็ได้ เสียงฮื้ดหรือเสียงวี้ดนี้ เกิดจากหลอดลมตีบมาก จึงเกิดเสียงนี้ขึ้น
ถ้าได้ยินเสียงฮื้ดหรือวี้ดนี้โดยทั่วไปในปอดทั้ง 2 ข้าง ให้นึกถึงโรคหอบหืด โรคหลอมลมอักเสบเรื้อรัง โรคปอดบวมน้ำฉับพลันหรือภาวะหัวใจล้ม ซึ่งในทั้ง 3 โรคนี้ผู้ป่วยจะมีอาการหอบเหนื่อยร่วมด้วย
ถ้าได้ยินเสียงฮื้ดหรือวี้ดนี้ เฉพาะในบริเวณทรวงอกส่วนเล็ก ๆ ส่วนเดียวและเป็นเช่นนั้นอยู่ตลอด ไม่ว่าหลังไอ หรือหลังหายใจแรงๆ ลึก ๆ ให้สงสัยว่า หลอดลมที่มาสู่ปอดบริเวณนั้นตีบแคบเพราะเนื้องอกหรือมะเร็ง หรือบางครั้งจากพังผืดด้วย

6.เสียงเสียดสีของเยื่อหุ้มปอด (pleural friction rub)
เป็นเสียงที่เกิดจากการเสียดสีของเยื่อหุ้มปอดที่ขรุขระจากการอักเสบ ในคนปกติ เยื่อหุ้มปอดจะเสียดสีกันตลอดเวลา แต่ไม่มีเสียงเพราะเยื่อหุ้มปอดนั้นเรียบ และมีน้ำหล่อลื่นอยู่
เมื่อเยื่อหุ้มปอดอักเสบ เยื่อหุ้มปอดจะขรุขระ จึงทำให้เกิดเสียงเสียดสี (friction rub) ขึ้น เสียงเสียดสีนี้พอจะฝึกฟังได้ โดยใช้ปลายนิ้วชี้แห้งถูที่ติ่งหูไปมา จะได้ยินเสียงที่คล้ายเสียงเสียดสีของเยื่อหุ้มปอด
หรือใช้ฝ่ามือข้างหนึ่งปิดหูข้างหนึ่งไว้ แล้วใช้นิ้วของมืออีกข้างหนึ่งถูไปมาบนหลังมือของฝ่ามือข้างที่ปิดหูไว้ จะได้ยินเสียงคล้ายเสียงเสียดสีของเยื่อหุ้มปอด
เสียงเสียดสีของเยื่อหุ้มปอดมักได้ยินชัดบริเวณทรวงอกด้านข้างโดยเฉพาะใต้รักแร้ แต่จะได้ยินในบริเวณส่วนหนึ่งส่วนใดของทรวงอกก็ได้

7. เสียงเสมหะ (secretion sounds)
เป็นเสียงครืดคราด ๆ ที่ดังในขณะคนไข้หายเข้าออก เมื่อคนไข้หายแรง ๆลึกๆ หรือไอ เสียงครืดคราดนี้อาจจะเปลี่ยนแปลงไปเพราะเสมหะที่อยู่ในหลอดลมใหญ่ถูกไอออกหรือถูกไอจนเปลี่ยนที่ไป

8. เสียงจากจมูก ปาก และคอ (transmitted sounds)
เป็นเสียงแปลก ๆ ที่ผ่านลงมาจากรูจมูกที่ตีบแคบ จากปาก หรือจากคอ ไม่ใช่เสียงที่เกิดจากความผิดปกติในปอดหรือหลอดลม
  

9.เสียงหายใจผิดปกติแบบอื่น ๆ ซึ่งพบน้อย เช่น
9.1 เสียงขาดเป็นห้วง ๆ (cogwheel sounds)
ซึ่งมักเกิดในขณะหายใจเข้า (ดูรูปที่ 5) แต่อาจเกิดใจขณะหายใจออกก็ได้ มักเกิดบริเวณยอดอก (ทรวงอกเหนือไหปลาร้าและเหนือสะบัก) จากเยื่อหุ้มปอดเป็นพังผืด หรือวัณโรคปอด บางครั้งได้ยินทั่วไป จากอาการหนาวสั่น อาการทางจิต (โรคประสาท) หรือภาวะอ่อนเพลียมาก ๆ

9.2 เสียงหลายลักษณะ (metamorphosing sounds)
คือเสียงหายใจที่มีหลายลักษณะในขณะหายใจเข้าหรือออก เกิดจากการเปิดหรือปิดตัวของหลอมลม หรือการเคลื่อนไหวของเสมหะ ทำให้หลอดลมเปิดหรือปิดตัว (ดูรูปที่ 5)

9.3 เสียงระฆัง
 (metallic tinkle)
คือเสียงคล้ายเสียงระฆังเบา ๆ ในขณะหายใจเข้าหรือออก อาจพบในคนไข้ที่มีลมและน้ำหรือหนองในโพรงเยื่อหุ้มปอด (pneumohydrothorax หรือ pneumopyothorax)
หรือคนที่ปอดเป็นฝีใหญ่ ๆที่มีลมและหนองในฝีนั้น เข้าใจว่าเสียงนี้เกิดจาก ลมลอยตัวปุด ๆ ผ่านน้ำหรือหนองทำให้เกิดเสียงระฆังขึ้น

9.4 เสียงโพรง (cavernous หรือ amphoric sounds)
เป็นเสียงคล้ายเสียงเป่าลมผ่านสิ่งกลวงใหญ่ ๆ อาจพบได้ในปอดบริเวณที่เป็นโพรงใหญ่ หรือในรายที่มีลมในโพรงเยื่อหุ้มปอด

ข.เสียงพูดหรือเสียงกระซิบ (voice sounds) อาจจะแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิดคือ
ข.1 เสียงกระซิบ (whispered voice)
ให้คนใข้กระซิบ “หนึ่ง สอง สาม” (แต่ไม่ใช่พึมพำ หรือพูดเสียงเบาๆ ) แล้วฟังด้วยเครื่องฟัง จะได้ยินเสียงกระซิบเฉพาะที่บริเวณคอ, บริเวณทรวงอกเท่านั้นในคนปกติ ส่วนอื่นจะไม่ได้ยินเสียงกระซิบที่ได้ยินก็ไม่ชัดเจนและบอกไม่ได้ว่า คนไข้กระซิบว่าอะไร
ถ้าได้ยินเสียงกะซิบนี้ในบริเวณอื่น โดยเฉพาะถ้าเสียงกระซิบนี้ดังชัดเจนหรือก้องและนานกว่าปกติ จะเป็นเสียงกระซิบผิดปกติ (whispered pectoriloquy หรือ bronchial whispers) แสดงว่าปอดส่วนนั้นอักเสบ แข็ง หรือแฟบ และถ้าได้ยินเสียงระหว่างสะบักทั้ง 2 ข้าง ตรงส่วนบน อาจสงสัยว่า ต่อมน้ำเหลืองบริเวณหลอดลมคอและหลอดลมใหญ่โต แต่ในเด็กปกติบางคน ก็อาจได้ยินเสียงนี้ระหว่างสะบักทั้ง 2 ข้างได้

เสียงกระซิบนี้มีประโยชน์กว่าเสียงหายใจเข้าออกแรงๆ เพราะสามารถวินิจฉัยปอดที่อักเสบ- แข็ง- หรือแฟบ ได้ดีกว่าเสียงหายใจ แม้ว่าปอดที่อักเสบ แข็ง หรือแฟบ นั้นจะมีขนาดเล็กกว่า
นอกจากนั้น คนไข้ที่ไม่สามารถหายใจเข้าออกแรง ๆ ลึก ๆ ได้เพราะอ่อนเพลีย เจ็บหน้าอกหรืออื่น ๆ ก็สามารถกระซิบได้ เพราะการกระซิบจะใช้แรงน้อยกว่าการหายใจเข้าออกแรง ๆ

ข.2 เสียงพูดธรรมดา (spoken voice หรือ vocal resonance)
ให้คนไข้พูดเสียงดังพอประมาณ เช่น ให้นับ “หนึ่ง- สอง- สาม ” แล้วฟังด้วยเครื่องฟังที่บริเวณทรวงอก เสียงนี้จะได้ยินชัดสุดบริเวณคอ รองลงไปคือบริเวณทรวงอกส่วนบนทั้งด้านหน้าและหลัง ถัดไปคือ ทรวงอกบริเวณอื่น ๆ แต่ที่ชายโครง(ทรวงอกด้านล่าง) จะได้ยินเสียงค่อยมาก
ถ้าได้ยินเสียงพูดนี้ดังกว่าปกติ ( pectoriloquy หรือ bronchophony หรือ egophony) จนก้องหู หรือใกล้หู จะแสดงว่าปอดส่วนนั้นอักเสบ-แข็ง-หรือแฟบ

ถ้าไม่ได้ยินเสียงพูดนี้ หรือเสียงพูดนี้ค่อยกว่าปกติ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับปอดอีกข้างหนึ่งในตำแหน่งเดียวกัน มักแสดงว่ามีลม น้ำ หนอง หรือเลือดในโพรงเยื่อหุ้มปอดข้างนั้นหรือเยื่อหุ้มปอดบริเวณนั้นหนา หรือ หลอดลมที่นำลม (นำเสียง) ไปสู่ปอดบริเวณนั้นถูกอุดกั้น
ในการหาบริเวณปอดที่อักเสบ-แข็ง-หรือแฟบ การใช้เสียงกระซิบ จะดีกว่าเสียงพูด
    

ค.เสียงอื่น ๆ เช่น
ค.1 เสียงกระฉอก (succussion sounds)
เป็นเสียงที่เกิดจากมีลมและน้ำอยู่ในโพรงเยื่อหุ้มปอด หรือในโพรงฝีใหญ่ ๆ เมื่อจับตัวคนไข้เขย่า ก็จะได้ยินเสียงเหมือนเสียงเขย่าขวด ที่มีน้ำและลมอยู่ด้วยกัน
เสียงนี้ อาจเป็นเสียงน้ำและลมในกระเพาะอาหาร ที่ส่งเสียงกระฉอกผ่านขึ้นไปมาในทรวงอกอาจจะไม่ใช่ความผิดปกติในทรวงอกก็ได้

ค.2 เสียงท้อง (peristalsis sound หรือ gurgling sounds)
เป็นเสียงที่เกิดจากการเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหารและลำไส้โดยปกติ จะได้ยินแต่เฉพาะในบริเวณท้อง แต่ในบางราย อาจได้ยินในบริเวณทรวงอกส่วนล่าง (ชายโครง) ทั้ง 2 ข้าง ถ้าได้ยิน
สูงขึ้นไปในทรวงอก โดยเฉพาะทรวงอกด้านซ้าย จะต้องสงสัยภาวะกระเพาะลำไส้เลื่อนเข้าในทรวงอก ( hiatal hernia หรือ diaphragmatic hernia) หรือ กล้ามเนื้อกะบังลมเป็นอัมพาต ทำให้กระเพาะลำไส้อยู่สูงขึ้นไปในทรวงอก

การฟังเสียงหายใจในบริเวณทรวงอก จึงอาจจะทำให้รู้ถึงสภาพปกติและผิดปกติของปอดและหลอดลม เพิ่มเติมจากที่ตรวจได้โดยการ ดู คลำ และเคาะที่ได้กล่าวถึงแล้วในฉบับก่อนๆ

Monday, April 8, 2013

สารพัดประโยชน์ของเบกกิ้งโซดา


เบกกิ้งโซดา
 ดับกลิ่นอับของเสื้อผ้าที่เราสวมใส่ 
เมื่อจะใช้ให้ผสมเบกกิ้งโซดาครึ่งถ้วย (1 ถ้วย = 16 ช้อนโต๊ะ) กับผงซักฟอกชนิดน้ำปริมาณที่คุณใช้ แทนที่คุณจะใช้สารฟอกขาวชนิดคลอไรด์ถึงถ้วยหนึ่งเต็ม ๆ คุณสามารถใช้เพียงครึ่งหนึ่งเข้าไปแทนที่ได้ แต่ก็อย่าลืมว่าถึงเบกกิ้งโซดาจะใช้ซักเสื้อผ้าได้ แต่มันก็ไม่ได้มีประสิทธิภาพในการซักเท่ากับผงซักฟอก เบคกิ้งโซดาจึงเป็นเพียงส่วนเสริมให้ผ้าสะอาดมากขึ้น เท่านั้น

 ใช้ล้างแปรงและหวี 
เอาเบคกิ้งโซดา 1 ช้อนชา ผสมน้ำอุ่นในชามอ่างเล็กๆ แช่หวีกับแปรงไว้ค่ะ มันจะทำให้พวกคราบต่างๆหลุดออกได้ง่าย

 ทำความสะอาดที่ดัดฟัน (retainers) 
2 ช้อนชากับน้ำอุ่น 1 ถ้วย แช่ไว้สักพักแล้วเอาแปรงขัดๆปัดๆคราบออก

 ดับกลิ่นแมว 
ให้เอาเบคกิ้งโซดาเทลงไปใน litter box ของแมว ก่อนที่จะใส่ litter หลังจากนั้น ทุกครั้งที่คุณทำความสะอาด litter box พอตักอึแมวไปแล้วก็เอาเบกกิ้งโซดาโรยนิดๆด้านบนเพื่อ เป็นการกลบกลิ่นค่ะ

 พื้นผิวสิ้นคราบสกปรก 
สำหรับพื้นผิวแข็งๆ เช่น พื้นครัว พื้นห้องน้ำ อ่างล้างหน้า อ่างอาบน้ำ ให้ละลายเบคกิ้งโซดา 4 ช้อนโต๊ะผสมกับน้ำอุ่น 4 ถ้วย เช็ดทำความสะอาด แล้วค่อยล้างออก ในกรณีที่มีคราบสกปรกทำความสะอาดยาก ให้ผสมเบกกิ้งโวดากับน้ำอุ่นในปริมาณที่เท่ากันข้นจน เป็นแป้ง จากนั้นให้พอกทิ้งไว้บริเวณที่มีคราบสกปรก อย่างเช่น บนเคาน์เตอร์ หรือจานกระเบื้องสัก 1 ชั่วโมงแล้วค่อยเช็ดออก

 เช็ดเตารีด 
ใช้ผ้าชุบน้ำผสมเบคกิ้งโซดาบิดพอหมาด นำไปเช็ดใต้เตารีด หรือเครื่องครัว ที่ทำด้วยฟอร์เมก้า สแตนเลส โครเมี่ยม จะทำความสะอาดได้หมดจดไม่เกิดรอยขูดขีด

 ดับกลิ่นพรม 
โรยเบคกิ้งโซดาให้ทั่ว ปล่อยทิ้งไว้ 15 นาที แล้วดูดออก

 สำหรับพรมที่เปื้อนคราบน้ำมัน 
ให้เทน้ำผสมเบคกิ้งโซดาลงตรงบริเวณที่เปื้อนคราบน้ำม ัน ปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 12 ชั่วโมง คราบก็จะจางลง จากนั้นให้ใช้น้ำผสมเบกกิ้งโซดาเช็ดทำความสะอาดซ้ำอี กครั้ง

 กลิ่นรองเท้า 
ปัญหาใหญ่ของใครหลายคนเพราะรองเท้าถูกใช้งานทั้งวัน เก็บหมักหมมเหงื่อไคล
ความอับชื้นง่ายมาก วิธีก็คือ โรยเบคกิ้งโซดาในรองเท้า แล้วนำรองเท้าคู่นั้นใส่ถุงพลาสติกรัดให้แน่น นำไปแช่ช่องแช่แข็งของตู้เย็นไว้ 1 หรือ 2 คืน นำรองเท้าออกมาทิ้งไว้ในอุณหภูมิห้อง แล้วเอาไปสลัดผงเบคกิ้งโซดาออกให้หมดแล้วสวมได้เลย แต่หากเรายังไม่สวมทันทีให้ปล่อยผงเบคกิ้งโซดาไว้อย่ างนั้นก่อนจนกว่าจะนำมาสวม หรือใช้กระดาษหนังสือพิมพ์อัดเป็นก้อนมาใส่ด้านในรอง เท้า หมึกของกระดาษหนังสือพิมพ์จะช่วยดูดกลิ่น และยังทำให้รองเท้าอยู่ทรงด้วย ทุกครั้งที่กลับบ้านให้ใส่กระดาษหนังสือพิมพ์ทุกครั้ ง และเปลี่ยนแผ่นใหม่ทุกอาทิตย์

 กลิ่นในรถ หากมีกลิ่นบุหรี่ในรถ 
ให้โรยเบคกิ้งโซดาลงที่ก้นที่เขี่ยบุหรี่ในรถเพราะเบ คกิ้งโซดาจะช่วยดับกลิ่น แต่ต้องไม่ลืมนำมันออกมาทำความสะอาดด้วยการเทเถ้าทิ้ งแล้วโรยผงเบคกิ้งโซดาไว้ที่ถาดเสมอ ๆ

 บรรเทาอาการลมพิษได้เช่นกัน 
วิธีคือ ใช้ผงเบคกิ้งโซดาผสมกับน้ำ 2-3 หยดพอให้เป็นแป้งเปียก ทาบริเวณผื่นเพื่อลดการระคายเคืองและแก้คัน
 ฮ่องกงฟุต
อาการคันตามง่ามเท้าเพราะติดเชื้อราหรือที่เราเรียกว ่า ฮ่องกงฟุต อาจเกิดขึ้นได้กับทุกคน ยารักษาเชื้อราในบ้านบางทีคุณอาจมียารักษาเชื้อราอยู ่แล้วคือ เบคกิ้งโซดา สามารถลดอาการคันและแสบร้อนตามง่ามนิ้วเท้า ใช้เบคกิ้งโซดา 1 ช้อนโต๊ะผสมน้ำพอให้เหนียวๆ แล้วนำมาทาที่เท้า จากนั้นล้างเท้าและเช็ดให้แห้ง ปิดท้ายด้วยการทาแป้งข้าวโพดบริเวณที่คัน ยาตำรับต่อไปนี้แม้ว่าจะฟังดูแปลกสักหน่อย แต่ล้วนได้รับคำรับรองจากผู้ที่ทดลองใช้มาแล้วว่าได้ ผลชะงัด ได้แก่ แอลกอฮอล์เช็ดแผล น้ำส้มไซเดอร์หรือน้ำส้มสายชูหมักจากแอปเปิล (apple cider vinegar) ผงกระเทียม สเปรย์ใส่ผม และน้ำผึ้ง ให้คุณเลือกใช้อย่างใดอย่างหนึ่ง ทาวันละ 3-4 ครั้ง

Sunday, April 7, 2013

โรคหลอดเลือดในสมองโป่งพอง


โรคหลอดเลือดในสมองโป่งพอง: คลินิกและภาพทางรังสี
Aneurysm : clinical and imaging
โดย
ตองอ่อน น้อยวัฒน์             อนุ.รังสีเทคนิค
วิชุดา สิริเมธาธโนปกรณ์       วท.บ.รังสีเทคนิค
สมจิตร จอมแก้ว                 อนุ.รังสีเทคนิค
อภิชาติ กล้ากลางชน            อนุ.รังสีเทคนิค
ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

ตองอ่อน น้อยวัฒน์, วิชุดา สิริเมธาธโนปกรณ์, สมจิตร จอมแก้ว, อภิชาติ กล้ากลางชน . โรคหลอดเลือดในสมองโป่งพอง: คลินิกและภาพทางรังสีวารสารชมรมรังสีเทคนิคและพยาบาลเฉพาะทางรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษาไทย, 2552;3(1) 46-50

หลอดเลือดสมองประกอบด้วยหลอดเลือดหลัก 3 เส้น ได้แก่
  1. left internal carotid artery
  2. right internal carotid artery
  3. vertebral artery
ซึ่งเชื่อมต่อกันที่ตำแหน่งฐานสมอง (circle of willis) ซึ่งมีพยาธิสภาพได้หลายอย่างและเป็นสาเหตุแห่งความพิการหรือเสียชีวิตได้
โรคหลอดเลือดสมองโป่งพองเป็นโรคทางหลอดเลือดอย่างหนึ่งที่พบได้บ่อยโดยเป็นการโป่งพองออกเป็นกระเปาะของผนังหลอดเลือดแดง มักเกิดที่ตำแหน่งของการแยกแขนงของหลอดเลือด (bifurcation) ตำแหน่งที่พบบ่อยคือ
  1. anterior communicating artery 30%
  2. posterior communicating artery 25%
  3. internal carotid bifurcation 15%
  4. basilar tip 10%
  5. middle cerebral artery bifurcation 20%

หลอดเลือดสมองโป่ง มักพบในคนที่มีอายุระหว่าง 50-60 ปี แต่ก็สามารถเกิดได้ในทุกช่วงอายุสาเหตุส่วนหนึ่งเชื่อว่าเกิดจากความเสื่อมของผนังหลอดเลือดร่วมกับอายุที่มากขึ้น นอกจากนั้นยังมีปัจจัยเร่งที่ทำให้สภาพหลอดเลือดมีความเสื่อมมากขึ้นและเร็วขึ้น ได้แก่ โรคความดันสูง เบาหวาน หรือสูบบุหรี่มาเป็นเวลานาน ภาวะหลอดเลือดสมองโป่ง ผู้ที่มีประวัติว่าบิดามารดาเป็นโรคหลอดเลือดในสมองโป่งพอง (Intracerebral Aneurysm) หรือหลอดเลือดในสมองแตก ผู้ที่มีอาการปวดศีรษะเรื้อรัง, ปวดศีรษะแบบไมเกรน, อยู่ในภาวะเครียดจากการเรียนหรือการทำงาน

หากไม่รักษา หลอดเลือดที่โป่งอาจเกิดการแตกในชั้นเยื่อหุ้มสมอง ทำให้เกิดเลือดคั่งในสมอง ก้อนเลือดนั้นจะไปกดเบียดเนื้อสมองหากเกิดในส่วนที่สำคัญ ก็จะทำให้เกิดภาวะอัมพฤกษ์ อัมพาต หรืออาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต
 
หากหลอดเลือดโป่งพองแตก โดยรายงานทางการแพทย์พบว่าผู้ป่วยมีโอกาสที่หลอดเลือดจะแตกซ้ำประมาณ 4% ในวันที่ 2 นับจากหลอดเลือดแตกครั้งแรก และใน 13 วันแรกนั้นมีโอกาสแตกซ้ำ 1.5% และหากพิจารณาช่วง 2 อาทิตย์แรกจะมีโอกาสแตกรวม 15 - 20 % และพบว่า 50% จะแตกซ้ำภายใน 6 เดือน หลังจากนั้นผู้ป่วยจะมีโอกาสที่หลอดเลือดโป่งพองจะแตกซ้ำประมาณ 3%  ต่อปี และมีอัตราตายประมาณ 2% ต่อปี อย่างไรก็ตามสถิติพบว่ามีอัตราการเสียชีวิตใน 1 เดือนแรกประมาณ 50% หากไม่ได้รับการรักษา

อาการแสดง 
ภาวะหลอดเลือดสมองโป่งอาจจะพบได้ทั้งแบบที่มีอาการและไม่มีอาการ
  1. บางรายอาจมีคลื่นไส้ อาเจียน
  2. บางรายอาจพบมีอาการหมดสติหลังจากปวดหัว
  3. รายที่ล้มหมดสติ และมีเลือดออกในสมอง (subarach
    noid hemorrhage) รุนแรงและปริมาณมากผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้ทันที
  4. นอกจากนี้อาจมาด้วยอาการอื่นเช่นมีอาการเตือนก่อน มีปวดศีรษะไม่มาก, อาการชัก, อาการของการกลอกตาผิดปกติซึ่งมักพบอาการเส้นประสาทสมองที่ 3 ผิดปกติทำให้กลอกตาเข้าในไม่ได้ มีม่านตาโต หรือเส้นเลือดโป่งพองมีขนาดใหญ่ไปกดสมองทำให้มีอาการได้

การประเมินผู้ป่วย 
บางรายอาจมีเส้นเลือดแตกทำให้ไม่รู้สึกตัว ซึ่งเราจะดูอาการของคนไข้ตามเกรด ที่นิยมคือ Hunt & Hess classification
 และ World Federation of Neurologic Surgeons (WFNS) grading ซึ่งผู้ป่วยที่อาการดีจะอยู่เกรดน้อยและอาการหนัก เกรดมากตามลำดับ 

การตรวจวินิจฉัย 
  1. เอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองความเร็วสูง (CT Multi-slice) ช่วยวินิจฉัยโรคได้ว่ามีเส้นเลือดแตกในช่องน้ำหล่อเลี้ยงสมอง ทำให้เห็นก้อนเลือด น้ำคั่งในสมอง สมองบวม สมองขาดเลือดได้ นอกจากนี้ลักษณะของเลือดที่ออกช่วยให้ทำนายได้ว่าเส้นเลือดโป่งพองอยู่ตำแหน่งใด บางครั้งอาจเห็นเส้นเลือดโป่งพองได้ 
  2. การตรวจหลอดเลือดสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRA) ทำให้เห็นเส้นเลือดโป่งพองได้ดีขึ้น มีความไว ความจำเพาะที่สูง อาจใช้การตรวจวิธีนี้อย่างเดียวโดยไม่ทำ angiography  เหมาะในโรงพยาบาลที่ไม่มีความพร้อมในการทำ angiography แต่ถ้าเส้นเลือดโป่งพองขนาดเล็กกว่า 3 mm อาจมองไม่เห็น
  3. การตรวจหลอดเลือดสมองด้วยการฉีดสารทึบสารรังสี (Angiogram)เป็นมาตรฐานในการวินิจฉัยดูว่ามีเส้นเลือดโป่งพองในสมอง และสามารถดู hemodynamic ได้
การรักษา
การผ่าตัดแล้วใช้คลิปหนีบไว้ (surgical clipping) เป็ฯการผ่าตัดเข้าไปหนีบ (clipping) เส้นเลือดโป่งพองที่คอของเส้นเลือดโดยไม่ทำให้เส้นเลือดที่ดีอุดตัน
           -   ผลลัพธ์การรักษาดี หากแต่พักฟื้นนาน
 
การใช้การรักษาจากภายในหลอดเลือด (endovascular treatment) เป็นการใส่สายสวนเข้าที่ขาหนีบแล้วปล่อยขดลวด (coil) เข้าไปอุดตันเส้นเลือดโป่งพอง
-   ผลลัพธ์การรักษาดี
-   เป็นตัวเลือกสำหรับตำแหน่งที่ไม่สามารถผ่าตัดได้
-    พักฟื้นไม่นาน
-     ค่าใช้จ่ายสูง

เอกสารอ้างอิง 
  1. อัญชลี ชูโรจน์. การตรวจหลอดเลือดของสมอง ใน กฤษฎี ประภาสะวัต บรรณาธิการ รังสีวินิจฉัย. บ.ทีซีจี พริ้นติ้ง กรุงเทพ, 2550; 571-584
  2. อรสา ชวาลภาฤทธิ์. เอ็มอาร์ไอทางคลินิกของโรคระบบประสาทที่พบบ่อย.โรงพิมพ์เรือนแก้วการพิมพ์ , กรุงเทพ; 2552  : 194-205
  3. วิธวัช หมอหวัง, เอนก สุวรรณบัณฑิต , สมจิตร จอมแก้ว และคณะ. ภาพทางรังสีของการรักษาโรคหลอดเลือดในสมองโป่งพอง. วารสารชมรมรังสีเทคนิคและพยาบาลเฉพาะทางรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษาไทย, 2550; 1(1) : 58-63
  4. วีรชาติ ชูรอด, วิธวัช หมอหวัง, จิรวรรธ สุดหล้าและคณะ. การตรวจหลอดเลือดสมองด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์.วารสารชมรมรังสีเทคนิคและพยาบาลเฉพาะทางรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษาไทย, 2551;2(1) : 40-44
  5. วิธวัช หมอหวัง, พงษ์ศักดิ์ แสงครุฑ, สุรีรัตน์  ธรรมลังกาและคณะ. การเปรียบเทียบเชิงเทคนิคระหว่างการตรวจหลอดเลือดแดงสมองด้วยเครื่องเอกซเรย์หลอดเลือดและคลื่นสนามแม่เหล็กไฟฟ้าวารสารชมรมรังสีเทคนิคและพยาบาลเฉพาะทางรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษาไทย, 2550; 1(2) : 61-72
  6. _________. เส้นเลือดโป่งในสมอง. http://www.thaiepilepsy.com