คัดลอกมาจาก:
นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่: 43
เดือน/ปี: พฤศจิกายน 1982
นักเขียนหมอชาวบ้าน: ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์
การตรวจทรวงอกด้วยการใช้เครื่องฟัง (stehoscope) มักจะใช้ฟังเสียงที่เกิดจากการหายใจ และเสียงที่เกิดจากหัวใจเต้น
เสียงที่เกิดจากการหายใจอาจจะแบ่งออกเป็น ก.เสียงหายใจ ข.เสียงพูดหรือเสียงกระซิบ ค.เสียงอื่น ๆ
ก.เสียงหายใจ ที่ได้ยินอาจจะแบ่งออกเป็น 3 ชนิด คือ
ก.1 เสียงถุงลม (vesicular breath sound)
เป็นเสียงที่ได้ยินจากบริเวณส่วนใหญ่ของทรวงอก ในขณะที่เสียงอีก 2 ชนิด ได้ยินในบริเวณแคบ ๆเล็ก ๆ ของทรวงอกเท่านั้น
(ดูรูปที่1) ก.2 เสียงหลอดลมถุงลม (broncho-vesicular breath sound)
เป็นเสียงที่มีลักษณะระหว่างเสียงถุงลมกับเสียงหลอดลมซึ่งได้ยินในบริเวณส่วนกลางของทรวงอกด้านบน ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง(
ดูรูปที่1) ก.3 เสียงหลอดลม (bronchial or tracheal breath sound)
เป็นเสียงที่มีลักษณะเสียงต่างจากเสียงถุงลมมาก และได้ยินในบริเวณคอด้านหน้า และด้านหลังเท่านั้น
(ดูรูปที่ 1)
เสียงหายใจทั้ง 3 ชนิด ถ้าเขียนเป็นรูปเพื่อเปรียบเทียบให้เห็นง่ายเข้า จะเป็นดังรูปที่ 2 ซึ่งแสดงให้เห็น(
ดูรูปที่ 2) เสียงถุงลมในขณะหายใจเข้าดังและยาวกว่าในขณะหายใจออกในบริเวณชายปอด(
ทรวงอกส่วนล่าง) เสียงหายใจเข้าจะดังและยาวกว่าเสียงหายใจออกมากกว่าในบริเวณอื่น จนเสียงหายใจออกอาจจะค่อยและสั้นมากจนเกือบไม่ได้ยินเสียงเลย เสียงหายใจเข้าก็ค่อยกว่าที่ได้ยินในบริเวณทรวงอกส่วนบน
เสียงหลอดลมถุงลม มีลักษณะเป็นเสียงผสมระหว่างเสียงถุงลมกับเสียงหลอดลม ทำให้มีลักษณะเสียงได้หลายลักษณะ ขึ้นอยู่กับว่าเสียงนั้นเกิดจากหลอดลมมากหรือเกิดจากถุงลมมาก
เสียงหลอดลม ซึ่งฟังที่บริเวณคอ จะดังและชัดกว่าเสียงถุงลมและเสียงหลอดลมถุงลม เสียงหลอดลมในขณะหายใจเข้า จะค่อยกว่าและสั้นกว่า ในขณะหายใจออกและมักจะมีช่องว่าง (
ไม่มีเสียงหายใจให้ได้ยิน) ในตอนสุดของการหายใจเข้าและตอนต้นของการหายใจออก
การฟังเสียงหายใจ ควรฟังในขณะที่ผู้ถูกตรวจหายใจเข้าออกแรง ๆ ทางปาก(อ้าปากหายใจ)จะทำให้ได้ยินเสียงหายใจจากปอดและหลอดลมชัดเจนขึ้น และไม่มีเสียงกวนจากรูจมูก ที่ตีบจากการคัดจมูก หรืออื่น ๆ มาแทรกอยู่
ในบางกรณี ที่คนไข้ไม่ยอมหายใจลึก ๆ แรง ๆ เช่นในเด็กหรือในผู้ใหญ่บางคน การทำให้เด็กร้องไห้ หรือการสั่งให้ไอ แล้วฟังตอนช่วงที่เขาต้องหายใจเข้า (
ซึ่งเขาจะต้องหยุดร้องไห้และหยุดไอ) ก็จะฟังเสียงหายใจเข้าที่ลึกและแรงได้
ควรฝึกฟังเสียงหายใจเปรียบเทียบระหว่างปอดสองข้าง ใจตำแหน่งเดียวกัน(
ดูรูปที่ 3) เพื่อจะเคยชินกับความแตกต่าง(ซึ่งมีน้อยมาก) ระหว่างเสียงหายใจของปอดสองข้างที่อยู่ในตำแหน่งเดียวกัน
ควรฝึกฟังเสียงหายใจในบริเวณต่าง ๆ ของทรวงอกของตนเอง หรือของญาติพี่น้องเป็นประจำจะทำให้ชินกับเสียงหายใจที่ปกติเมื่อได้ยินเสียงผิดปกติ จะได้รู้ว่าเป็นเสียงผิดปกติ
เสียงหายใจที่ผิดปกติ ที่พบบ่อยเช่น
1.เสียงถุงลมที่ดังมากกว่าปกติ มักพบในคนที่ผนังอกบาง เช่น เด็ก,คนผอม, ในขณะออกกำลังกาย ทำให้หายใจแรงและลึก, ในปอดส่วนที่ทำงานเพิ่มขึ้นแทนปอดอีกส่วนหนึ่งที่เสื่อมไป เช่น ถ้าปอดข้างซ้ายเป็นปอดบวม ปอดข้างขวาจะทำหน้าที่มากขึ้น ทำให้เสียงถุงลมในปอดข้างขวาดังมากขึ้น
2.เสียงถุงลมที่ดังน้อยกว่าปกติ
ถ้าดังน้อยกว่าปกติ ทั่วไปทั้ง 2 ข้าง มักพบใน
2.1 คนที่ผนังอกหนา 2.2 คนสูงอายุ 2.3 คนที่หายใจเบา ๆ เพราะหายใจแรงๆ ลึก ๆ ไม่ได้ เนื่องจากเจ็บผนังอกจากผนังอักเสบ เป็นฝี ถูกกระแทก ซี่โครงหัก กล้ามเนื้อซี่โครงเป็นอัมพาต ท้องโตมาจากน้ำ (ท้องมาน) จากไขมัน(คนอ้วนมาก ๆ) ทำให้ปอดขยายตัวไม่ได้ดี เป็นต้น
2.4 คนที่เป็นโรคปอดเรื้อรัง ทั้งสองข้าง โดยเฉพาะคนที่เป็นโรคถุงลมโป่งพอง (pulmonary emphysema) และโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง (chronicbronchitis) ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการสูบบุหรี่เรื้อรัง
2.5 คนที่หายใจเข้าออกลำบาก จากสาเหตุอื่น ๆ เช่น โรคคอตีบ หายใจเข้าออกทางจมูกที่ตีบคัด(คัดจมูก) หลอดลมคอตีบ(trachealstenosis) ซึ่งมักเกิดจากการเจาะคอเพื่อช่วยหายใจ เป็นต้น
เสียงถุงลมที่ดังน้อยกว่าปกติเฉพาะแห่ง นั่นคือ เฉพาปอดส่วนใดส่วนหนึ่ง จะเป็นปอดส่วนบน ส่วนกลางหรือส่วนล่าง ข้างซ้าย หรือข้างขวา เป็นต้น
ถ้าเสียงถุงลมดังน้อยกว่าปกติเฉพาะแห่ง (
เฉพาะบางส่วน ) มักเกิดจาก...
2.6 ปอดส่วนนั้นผิดปกติเช่น ปอดอักเสบ (pneumonitis) ปอดบวม (pneumonia)ปอดแฟบ (atelectasis) เป็นฝีในปอด (lung abscess) เป็นต้น ปอดผิดปกติเช่นนี้ นอกจากจะทำให้เสียงถุงลมดังค่อยแล้ว อาจจะทำให้เสียงถุงลมเปลี่ยนเป็นเสียงหลอดลมถุงลม หรือเสียงหลอดลมได้
ดังนั้น ถ้าฟังเสียงหลอดลมถุงลมหรือเสียงหลอดลมได้ในบริเวณส่วนอื่นของทรวงอก นอกจากบริเวณที่ได้ยินตามปกติ (
ดูรูปที่ 1) ให้นึกถึง ภาวะปอดอักเสบ-ปอดแข็ง-ปอดแฟบในบริเวณนั้นด้วย
ภาวะปอดอักเสบ-ปอดบวม มักจะร่วมด้วยการไข้ (ตัวร้อน) ไอและมีเสมหะด้วย
2.7 โพรงเยื่อหุ้มปอด หรือเยื่อหุ้มปอดบริเวณนั้นผิดปกติ เช่นโพรงเยื่อหุ้มปอดมีลม (pneumothorax) มีน้ำ (hydrothorax)มีหนอง (pyothorax)มีเลือด (hemothorax) หรือ เยื่อหุ้มปอดเป็นพังผืดหนา (pleural thickening) เป็นสาเหตุที่พบบ่อย ที่ทำให้เสียงถุงลม เสียงพูด เสียงกระซิบ ในบริเวณนั้นค่อยกว่าปกติ หรือไม่ได้ยินเลย
2.8 หลอดลมบริเวณนั้นตีบหรือตัน เช่น เพราะมีเสมหะ เนื้องอก หรือมะเร็งไปอุดทำให้ลมหายใจเข้าออกผ่านหลอดลมบริเวณนั้นลำบาก เสียงหายใจ(เสียงถุงลม) ในบริเวณนั้นจึงค่อยลง หรือหมดไป
3.เสียงเปรี๊ยะ ( rales หรือ crepitations)
เป็นเสียงเปรี๊ยะ ๆ ที่มักได้ยินช่วงสุดท้ายของการหายใจเข้าเกิดจากหลอดลมอักเสบและมีเสมหะหรือน้ำ อยู่ในหลอดลม(
ดูรูปที่ 4) อาจแบ่งได้เป็น 3 ชนิด คือ
3.1 เสียงเปรี๊ยะหยาบ (coarse crepitations)
เป็นเสียงเปรี๊ยะที่ดังและหยาบที่สุด ส่วนมากเกิดจากการมีเสมหะหรือน้ำในหลอดลมใหญ่ ๆ ถ้าดัง
มาก ๆ อาจได้ยินเสียงนี้ เมื่อยืนหรือนั่งอยู่ข้างๆ คนไข้ ที่เรียกว่า เสียงจมน้ำ(bubbing rales หรือ bubbling crepitations) ดูหมอชาวบ้านฉบับก่อน ในเรื่องการตรวจทรวงอกโดยการฟังที่ไม่ต้องใช้เครื่องฟัง เสียงเปรี้ยะหยาบ ๆ ในกรณีอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เสียงจมน้ำ มักพบได้ในคนสูงอายุ ที่หลอมลมเริ่มแข็งตัวมากกว่าปกติหรือมีเสมหะในหลอดลมใหญ่ ๆ ในกรณีหลังนี้ ถ้าให้คนไข้ไอสัก 2-3 ครั้ง เสียงเปรี๊ยะที่ได้ยิน อาจจะลดลงหรือหายไป
3.2 เสียงเปรี๊ยะปานกลาง (medium crepitations)
เป็นเสียงเปรี๊ยะที่ดังและหยาบปานกลาง ส่วนมากเกิดจากการมีเสมหะหรือน้ำในหลอดลมขนาดกลาง ซึ่งมักจะมีการอักเสบร่วมด้วย จึงพบเสียงนี้ในบริเวณปอดที่อักเสบ บวม หรือ แฟบ หรือหลอดลมโป่ง (bronchiectasis) วัณโรคปอด ปอดเป็นฝี หรืออื่น ๆ
3.3 เสียงเปรี๊ยะละเอียด (fine crepitations)
เป็นเสียวเปรี๊ยะที่ค่อยและละเอียดกว่า 2 ชนิดข้างต้น ส่วนมากเกิดจากการมีน้ำในหลอดลมเล็กๆ จึงมักพบเสียงนี้ในบริเวณปอดส่วนที่อยู่ต่ำ เช่น ปอดส่วนล่างด้านหลัง ในท่านอนหัวสูง หรือ ปอดส่วล่าง (บริเวณชายโครง หรือ เหนือชายโครง) ถ้าได้ยินเสียงเปรี๊ยะละเอียดในบริเวณดังกล่าวนึกถึง ภาวะหัวใจล้ม โดยเฉพาะถ้าคนไข้มีอาการหอบเหนื่อยร่วมด้วย (
ดูรายละเอียดเรื่อง “ภาวะหัวใจล้ม” ในเรื่องโรคหัวใจ ในหมอชาวบ้าน ประจำเดือนสิงหาคม 2525) เสียงเปรี๊ยะที่หายไป หลังจากคนไข้ไอสัก 2-3 ครั้ง แสดงว่าเสียงนั้น มักเกิดจากเสมหะหรือน้ำเล็ก ๆ น้อยๆ ในหลอดลม และไม่ค่อยมีความสำคัญเท่ากับเสียงเปรี๊ยะที่ยังคงอยู่หรือดังขึ้น หลังจากคนไข้ไอแล้ว
4. เสียงกรอกแกรก (sonorous rhonchi)
เป็นเสียงที่คล้ายเสียงเปรี๊ยะแต่เบากว่า และไม่คมชัดเท่าเสียงเปรี๊ยะ และมักได้ยินในขณะหายใจออกมากกว่าในขณะหายใจเข้า แต่อาจได้ยินทั้งขณะหายใจเข้าและออกก็ได้ เสียงกรอกแกรก เกิดจากลมหายใจวิ่งผ่านหลอดลมที่ขรุขระด้วยการอักเสบ หรือมีเสมหะเหนียว ๆ ติดอยู่เป็นหย่อม ๆ
5. เสียงฮื้ดหรือ เสียงหวีด ( wheeze หรือ sibilant rhonchi)
เป็นเสียงที่อาจได้ยินโดยไม่ต้องใช้เครื่องฟัง เป็นเสียงหายใจที่มีลักษณะฮื้ด ๆ หรือ วี้ด ๆ มักจะได้ยินในขณะหายเข้า แต่อาจได้ยินทั้งในขณะหายใจเข้าและออกก็ได้ เสียงฮื้ดหรือเสียงวี้ดนี้ เกิดจากหลอดลมตีบมาก จึงเกิดเสียงนี้ขึ้น
ถ้าได้ยินเสียงฮื้ดหรือวี้ดนี้โดยทั่วไปในปอดทั้ง 2 ข้าง ให้นึกถึงโรคหอบหืด โรคหลอมลมอักเสบเรื้อรัง โรคปอดบวมน้ำฉับพลันหรือภาวะหัวใจล้ม ซึ่งในทั้ง 3 โรคนี้ผู้ป่วยจะมีอาการหอบเหนื่อยร่วมด้วย
ถ้าได้ยินเสียงฮื้ดหรือวี้ดนี้ เฉพาะในบริเวณทรวงอกส่วนเล็ก ๆ ส่วนเดียวและเป็นเช่นนั้นอยู่ตลอด ไม่ว่าหลังไอ หรือหลังหายใจแรงๆ ลึก ๆ ให้สงสัยว่า หลอดลมที่มาสู่ปอดบริเวณนั้นตีบแคบเพราะเนื้องอกหรือมะเร็ง หรือบางครั้งจากพังผืดด้วย
6.เสียงเสียดสีของเยื่อหุ้มปอด (pleural friction rub)
เป็นเสียงที่เกิดจากการเสียดสีของเยื่อหุ้มปอดที่ขรุขระจากการอักเสบ ในคนปกติ เยื่อหุ้มปอดจะเสียดสีกันตลอดเวลา แต่ไม่มีเสียงเพราะเยื่อหุ้มปอดนั้นเรียบ และมีน้ำหล่อลื่นอยู่
เมื่อเยื่อหุ้มปอดอักเสบ เยื่อหุ้มปอดจะขรุขระ จึงทำให้เกิดเสียงเสียดสี (friction rub) ขึ้น เสียงเสียดสีนี้พอจะฝึกฟังได้ โดยใช้ปลายนิ้วชี้แห้งถูที่ติ่งหูไปมา จะได้ยินเสียงที่คล้ายเสียงเสียดสีของเยื่อหุ้มปอด
หรือใช้ฝ่ามือข้างหนึ่งปิดหูข้างหนึ่งไว้ แล้วใช้นิ้วของมืออีกข้างหนึ่งถูไปมาบนหลังมือของฝ่ามือข้างที่ปิดหูไว้ จะได้ยินเสียงคล้ายเสียงเสียดสีของเยื่อหุ้มปอด
เสียงเสียดสีของเยื่อหุ้มปอดมักได้ยินชัดบริเวณทรวงอกด้านข้างโดยเฉพาะใต้รักแร้ แต่จะได้ยินในบริเวณส่วนหนึ่งส่วนใดของทรวงอกก็ได้
7. เสียงเสมหะ (secretion sounds)
เป็นเสียงครืดคราด ๆ ที่ดังในขณะคนไข้หายเข้าออก เมื่อคนไข้หายแรง ๆลึกๆ หรือไอ เสียงครืดคราดนี้อาจจะเปลี่ยนแปลงไปเพราะเสมหะที่อยู่ในหลอดลมใหญ่ถูกไอออกหรือถูกไอจนเปลี่ยนที่ไป
8. เสียงจากจมูก ปาก และคอ (transmitted sounds)
เป็นเสียงแปลก ๆ ที่ผ่านลงมาจากรูจมูกที่ตีบแคบ จากปาก หรือจากคอ ไม่ใช่เสียงที่เกิดจากความผิดปกติในปอดหรือหลอดลม
9.เสียงหายใจผิดปกติแบบอื่น ๆ ซึ่งพบน้อย เช่น
9.1 เสียงขาดเป็นห้วง ๆ (cogwheel sounds)
ซึ่งมักเกิดในขณะหายใจเข้า (
ดูรูปที่ 5) แต่อาจเกิดใจขณะหายใจออกก็ได้ มักเกิดบริเวณยอดอก (ทรวงอกเหนือไหปลาร้าและเหนือสะบัก) จากเยื่อหุ้มปอดเป็นพังผืด หรือวัณโรคปอด บางครั้งได้ยินทั่วไป จากอาการหนาวสั่น อาการทางจิต (โรคประสาท) หรือภาวะอ่อนเพลียมาก ๆ
9.2 เสียงหลายลักษณะ (metamorphosing sounds)
คือเสียงหายใจที่มีหลายลักษณะในขณะหายใจเข้าหรือออก เกิดจากการเปิดหรือปิดตัวของหลอมลม หรือการเคลื่อนไหวของเสมหะ ทำให้หลอดลมเปิดหรือปิดตัว (
ดูรูปที่ 5) 9.3 เสียงระฆัง (metallic tinkle)
คือเสียงคล้ายเสียงระฆังเบา ๆ ในขณะหายใจเข้าหรือออก อาจพบในคนไข้ที่มีลมและน้ำหรือหนองในโพรงเยื่อหุ้มปอด (pneumohydrothorax หรือ pneumopyothorax)
หรือคนที่ปอดเป็นฝีใหญ่ ๆที่มีลมและหนองในฝีนั้น เข้าใจว่าเสียงนี้เกิดจาก ลมลอยตัวปุด ๆ ผ่านน้ำหรือหนองทำให้เกิดเสียงระฆังขึ้น
9.4 เสียงโพรง (cavernous หรือ amphoric sounds)
เป็นเสียงคล้ายเสียงเป่าลมผ่านสิ่งกลวงใหญ่ ๆ อาจพบได้ในปอดบริเวณที่เป็นโพรงใหญ่ หรือในรายที่มีลมในโพรงเยื่อหุ้มปอด
ข.เสียงพูดหรือเสียงกระซิบ (voice sounds) อาจจะแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิดคือ
ข.1 เสียงกระซิบ (whispered voice)
ให้คนใข้กระซิบ
“หนึ่ง สอง สาม” (แต่ไม่ใช่พึมพำ หรือพูดเสียงเบาๆ ) แล้วฟังด้วยเครื่องฟัง จะได้ยินเสียงกระซิบเฉพาะที่บริเวณคอ, บริเวณทรวงอกเท่านั้นในคนปกติ ส่วนอื่นจะไม่ได้ยินเสียงกระซิบที่ได้ยินก็ไม่ชัดเจนและบอกไม่ได้ว่า คนไข้กระซิบว่าอะไร
ถ้าได้ยินเสียงกะซิบนี้ในบริเวณอื่น โดยเฉพาะถ้าเสียงกระซิบนี้ดังชัดเจนหรือก้องและนานกว่าปกติ จะเป็นเสียงกระซิบผิดปกติ (whispered pectoriloquy หรือ bronchial whispers) แสดงว่าปอดส่วนนั้นอักเสบ แข็ง หรือแฟบ และถ้าได้ยินเสียงระหว่างสะบักทั้ง 2 ข้าง ตรงส่วนบน อาจสงสัยว่า ต่อมน้ำเหลืองบริเวณหลอดลมคอและหลอดลมใหญ่โต แต่ในเด็กปกติบางคน ก็อาจได้ยินเสียงนี้ระหว่างสะบักทั้ง 2 ข้างได้
เสียงกระซิบนี้มีประโยชน์กว่าเสียงหายใจเข้าออกแรงๆ เพราะสามารถวินิจฉัยปอดที่อักเสบ- แข็ง- หรือแฟบ ได้ดีกว่าเสียงหายใจ แม้ว่าปอดที่อักเสบ แข็ง หรือแฟบ นั้นจะมีขนาดเล็กกว่า
นอกจากนั้น คนไข้ที่ไม่สามารถหายใจเข้าออกแรง ๆ ลึก ๆ ได้เพราะอ่อนเพลีย เจ็บหน้าอกหรืออื่น ๆ ก็สามารถกระซิบได้ เพราะการกระซิบจะใช้แรงน้อยกว่าการหายใจเข้าออกแรง ๆ
ข.2 เสียงพูดธรรมดา (spoken voice หรือ vocal resonance)
ให้คนไข้พูดเสียงดังพอประมาณ เช่น ให้นับ “
หนึ่ง- สอง- สาม ” แล้วฟังด้วยเครื่องฟังที่บริเวณทรวงอก เสียงนี้จะได้ยินชัดสุดบริเวณคอ รองลงไปคือบริเวณทรวงอกส่วนบนทั้งด้านหน้าและหลัง ถัดไปคือ ทรวงอกบริเวณอื่น ๆ แต่ที่ชายโครง(ทรวงอกด้านล่าง) จะได้ยินเสียงค่อยมาก
ถ้าได้ยินเสียงพูดนี้ดังกว่าปกติ ( pectoriloquy หรือ bronchophony หรือ egophony) จนก้องหู หรือใกล้หู จะแสดงว่าปอดส่วนนั้นอักเสบ-แข็ง-หรือแฟบ
ถ้าไม่ได้ยินเสียงพูดนี้ หรือเสียงพูดนี้ค่อยกว่าปกติ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับปอดอีกข้างหนึ่งในตำแหน่งเดียวกัน มักแสดงว่ามีลม น้ำ หนอง หรือเลือดในโพรงเยื่อหุ้มปอดข้างนั้นหรือเยื่อหุ้มปอดบริเวณนั้นหนา หรือ หลอดลมที่นำลม (นำเสียง) ไปสู่ปอดบริเวณนั้นถูกอุดกั้น
ในการหาบริเวณปอดที่อักเสบ-แข็ง-หรือแฟบ การใช้เสียงกระซิบ จะดีกว่าเสียงพูด
ค.เสียงอื่น ๆ เช่น
ค.1 เสียงกระฉอก (succussion sounds)
เป็นเสียงที่เกิดจากมีลมและน้ำอยู่ในโพรงเยื่อหุ้มปอด หรือในโพรงฝีใหญ่ ๆ เมื่อจับตัวคนไข้เขย่า ก็จะได้ยินเสียงเหมือนเสียงเขย่าขวด ที่มีน้ำและลมอยู่ด้วยกัน
เสียงนี้ อาจเป็นเสียงน้ำและลมในกระเพาะอาหาร ที่ส่งเสียงกระฉอกผ่านขึ้นไปมาในทรวงอกอาจจะไม่ใช่ความผิดปกติในทรวงอกก็ได้
ค.2 เสียงท้อง (peristalsis sound หรือ gurgling sounds)
เป็นเสียงที่เกิดจากการเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหารและลำไส้โดยปกติ จะได้ยินแต่เฉพาะในบริเวณท้อง แต่ในบางราย อาจได้ยินในบริเวณทรวงอกส่วนล่าง (
ชายโครง) ทั้ง 2 ข้าง ถ้าได้ยิน
สูงขึ้นไปในทรวงอก โดยเฉพาะทรวงอกด้านซ้าย จะต้องสงสัยภาวะกระเพาะลำไส้เลื่อนเข้าในทรวงอก ( hiatal hernia หรือ diaphragmatic hernia) หรือ กล้ามเนื้อกะบังลมเป็นอัมพาต ทำให้กระเพาะลำไส้อยู่สูงขึ้นไปในทรวงอก
การฟังเสียงหายใจในบริเวณทรวงอก จึงอาจจะทำให้รู้ถึงสภาพปกติและผิดปกติของปอดและหลอดลม เพิ่มเติมจากที่ตรวจได้โดยการ ดู คลำ และเคาะที่ได้กล่าวถึงแล้วในฉบับก่อนๆ